นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตรวจสอบความปลอดภัยท่าเทียบเรือและโป๊ะ (ทางน้ำ) บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 6 ท่า ได้แก่ ท่าเรือท่าช้าง เขตพระนคร, ท่าเรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร, ท่าเรือวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่, ท่าเรือวังหลัง (ฝั่งธนบุรี) เขตบางกอกน้อย, ท่าเรือสะพานพระปิ่นเกล้า (ฝั่งธนบุรี) เขตบางกอกน้อย และท่าเรือสะพานพระราม 8 เขตบางพลัด
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนในช่วงเทศกาลงานลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2564 ซึ่งจะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 19 พ.ย. 64 จึงสำรวจโป๊ะและท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน โดยริมแม่น้ำเจ้าพระยามีโป๊ะและท่าเรือ 260 ท่า มีสภาพปกติสามารถใช้ได้ 230 ท่า แบ่งเป็น ท่าเรือเอกชน 169 ท่า ท่าเรือสาธารณะ 59 ท่า ไม่มีเจ้าของ 2 ท่า มีท่าเรือชำรุดต้องปรับปรุงซ่อมแซม 30 ท่า แบ่งเป็นท่าเรือเอกชน 24 ท่า ท่าเรือสาธารณะ 6 ท่า
นายสกลธี กล่าวว่า สำหรับโป๊ะและท่าเรือที่มีสภาพปกติสามารถใช้ได้ กรุงเทพมหานคร ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอยู่ประจำทุกจุด เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน พร้อมทั้งขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งติดตั้งป้ายแสดงจำนวนคนที่โป๊ะและท่าเรือสามารถรองรับได้สูงสุดอย่างชัดเจน เพื่อแจ้งเตือนประชาชน โดยอยากขอความร่วมมือประชาชนลงโป๊ะหรือท่าเรือน้อยกว่าจำนวนที่กำหนด 25% เพื่อความไม่ประมาทและความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง
พร้อมทั้งสั่งการให้เรือตรวจการณ์ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ และสำนักการแพทย์ ร่วมตรวจการณ์ในวันงานเพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 รวมระยะทาง 20.4 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 1 ลำ เรือเจ็ทสกี จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ 1 ลำ เรือกู้ชีพ รพ.วชิระ จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ
ช่วงที่ 2 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถึงสะพานตากสิน (สะพานสาทร) ประกอบด้วยเรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ 1 ลำ เรือกู้ชีพ รพ.ตากสิน จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ
ช่วงที่ 3 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สะพานสาทร) ถึง สะพานพระราม 9 ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ 1 ลำ เรือกู้ชีพ รพ.เจริญกรุง จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ
ส่วนโป๊ะและท่าเรือที่มีสภาพชำรุด กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการปิดกั้นท่าเรือและโป๊ะ พร้อมทั้งติดตั้งป้ายห้ามใช้งานเรียบร้อยแล้ว
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในวันลอยกระทง ฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุด เวลา 17.13 น. ที่ระดับ +1.06 ม.รทก. อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า โป๊ะและท่าเทียบเรือที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานต้องมีลักษณะ ดังนี้ ตัวท่าเรือและโป๊ะจะมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ผุกร่อน เสากันโป๊ะและอุปกรณ์ยึดโป๊ะมีความมั่นคงแข็งแรง โป๊ะเทียบเรือมีการลอยตัวที่สมดุล มีราวกันคนตกน้ำบนโป๊ะ มีพวงชูชีพติดตั้งไว้ในบริเวณที่สามารถนำไปใช้ได้สะดวก มีป้ายแสดงจำนวนผู้โดยสารที่โป๊ะสามารถรับน้ำหนักได้ ติดตั้งยางกันกระแทก กล้องวงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งบริเวณโป๊ะและท่าเทียบเรือสามารถใช้งานได้ไม่มีความชำรุดบกพร่องใดๆ และการเดินทางเข้าถึงโป๊ะและท่าเทียบเรือมีความสะดวกและปลอดภัย
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครในช่วงวันลอยกระทง ประจำปี 2564 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยหน่วยงานทุกภาคส่วน และองค์กรภาคีเครือข่าย บูรณาการเตรียมความพร้อม เจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ และยานพาหนะ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกันของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในช่วงก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมทั้งได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ในช่วงวันลอยกระทง ประจำปี 2564 เพื่อขอความร่วมมือจากผู้ผลิต สะสม จำหน่ายผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย ตลอดจนประชาชนทั่วไป ห้ามมิให้จุดพลุ ประทัด และห้ามปล่อยโคมลอย หากฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังห้ามจำหน่ายและห้ามเล่นประทัดจีนทุกชนิด ประทัดรูปทรงกลม รูปไข่ รูปสามเหลี่ยม และไดนาไมท์ ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ โดยจะดำเนินการกวดขัน จับกุมผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด