นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่า พบเชื้อไวรัสโคโรนาในหมูสามารถติดต่อสู่คนได้ ซึ่งรายงานพบในเด็กประเทศเฮติ 3 คน แต่อาการป่วยไม่รุนแรง มีเพียงอาการไข้และท้องเสียเล็กน้อยเท่านั้น โดยเป็นการพบเชื้อไวรัสโคโรนาในสุกร Porcine Deltacoronavirus (PDCoV) ที่แยกได้จากคน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุ และที่มาของการติดเชื้อว่าสามารถแพร่ติดต่อจากหมูมายังคนได้โดยวิธีใด ตามปกติสุกรสามารถติดโรคไวรัสโคโรนาได้แต่แสดงอาการไม่รุนแรง โดยไวรัสโคโรนาที่พบในสุกรทั่วโลกมีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ จำแนกเป็น 3 จีนัส คือ แอลฟา เบตา และเดลตา ก่อให้เกิดกลุ่มอาการระบบทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ และระบบประสาท โดยในสุกรเด็กอาจเกิดอาการท้องเสียได้
สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการพบเชื้อไวรัสโคโรนาในเนื้อสุกร และยังไม่พบช่องทางการติดเชื้อว่าสามารถแพร่ติดต่อจากหมูมายังคนได้โดยวิธีใด จึงขอให้ประชาชนเลือกซื้อเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานจากแหล่งผลิตและจำหน่ายที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการผลิตภาคปศุสัตว์และด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศได้ตระหนัก และให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังโรคไวรัสโคโรนา รวมทั้งโรคไวรัสชนิดอื่นๆ ที่เป็นโรคอุบัติใหม่มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือเพื่อเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการเกิดโรคในภาคปศุสัตว์ และสัตว์เลี้ยง มีการเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการในการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง มีแผนการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำในสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ ซึ่งได้มีโครงการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัส 5 สายพันธุ์ที่มีค้างคาวเป็นสัตว์พาหะรวมทั้งโคโรนาไวรัส
จากผลการเฝ้าระวังที่ผ่านมายังไม่พบอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสในสุกรทั้ง 5 สายพันธุ์ ประกอบกับมีมาตรการคุมเข้มในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สถานประกอบการผลิตสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศ และประเทศคู่ค้ามั่นใจได้ว่าเนื้อสัตว์ปลอดภัยไร้โควิด-19
สำหรับมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการที่ครอบคลุมทั้งด้านอาคารสถานที่ การดำเนินงาน ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การเตรียม การแปรรูป การเก็บรักษา และการขนส่ง บุคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกสถานประกอบการได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ทั้งการทำความสะอาดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในสถานประกอบการอย่างสม่ำเสมอ การเว้นระยะห่างในการปฏิบัติงาน การเฝ้าระวังเชิงรุกและการคัดกรองผู้ปฎิบัติงาน การกักตัวสังเกตอาการและการแยกตัวเพื่อรักษา การเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์เพื่อเฝ้าระวังเชื้อโควิด-19 ในเนื้อสัตว์
ปัจจุบันได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ ตั้งแต่มีการเกิดโรคเพื่อเฝ้าระวังเชิงรุกในสถานประกอบการ และตลาดสดแล้วจำนวนกว่า 4,477 ตัวอย่าง ผลทั้งหมดไม่พบการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในตัวอย่างเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ในทุกสถานประกอบการเพื่อการส่งออก จะมีเจ้าหน้าที่พนักงานตรวจโรคสัตว์ปฏิบัติงานประจำที่โรงงานทำการตรวจโรคสัตว์ และกำกับควบคุมดูแลกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ให้สอดคล้องตามหลักสุขอนามัยที่ดี และควบคุมให้สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
"จากการดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ขอให้ผู้บริโภคและประชาชนทุกคนมั่นใจได้ว่า เนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ปลอดภัยไร้โควิด-19 สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และกระบวนการผลิตถูกสุขอนามัย มีความปลอดภัยอาหาร และย้ำชัดว่าอย่าตื่นตระหนก" อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุ