นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/64 พบว่า ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรง จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงที่สุดตั้งแต่มีโควิด-19 ในขณะที่หนี้สินครัวเรือนยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานในไตรมาส 3/64 ภาพรวมการจ้างงานผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้ ซึ่งมีการจ้างงาน 12.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.0% เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มฤดูการเพาะปลูกข้าว ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลง 1.3% ด้านผู้ว่างงานชั่วคราวสูงถึงเกือบ 9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนเพียง 4.7 แสนคนเท่านั้น
ทั้งนี้ การว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 2.25% นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงาน สูงสุด 3.63% รองลงมาเป็น ปวส. 3.16% ซึ่งผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบในสาขาทั่วไป (บริหารธุรกิจ การตลาด) จึงมีแนวโน้มประสบปัญหาการว่างงานยาวนานขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างจำกัด และคนกลุ่มนี้ที่มีทักษะไม่ต่างกันจึงหางานได้ยากขึ้น
ขณะที่แรงงานที่มีอายุ 15-19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุดที่ 9.74% สะท้อนว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างบางส่วนไม่สามารถรับภาระต่อได้ และจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ขณะที่เด็กจบใหม่ยังไม่มีตำแหน่งงานรองรับ เนื่องจากผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์ จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน
"อัตราการว่างงานไตรมาส 3/64 ใกล้เคียง และสูงสุดตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 51 อย่างไรก็ดี ยังไม่สูงเท่ากับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ที่อัตราว่างงานอยู่ที่กว่า 5% ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/64 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ธุรกิจกลับมาเปิด รวมทั้งถ้าไม่มีการระบาดที่รุนแรงอีกครั้ง ตัวเลขการว่างงานน่าจะลดลง" นายดนุชา กล่าว
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป คือ 1. การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการจ้างงานใน ภาคการท่องเที่ยว และการฟื้นฟูเศรษฐกิจเดือนต.ค. 64 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ และมีการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 64 ซึ่งจะเพิ่มการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศยังต้องมีมาตรการเพิ่มเติม ดังนี้ การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ที่ต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น, การหามาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก ซึ่งอาจไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการเปิดประเทศดังกล่าว, การอำนวยความสะดวกในการจ้างงานให้กับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งอาจมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มเดิมที่ถูกเลิกจ้างในช่วงโควิด-19 มีการเปลี่ยนอาชีพ และการดำเนินมาตรการอื่นควบคู่กันไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะจากโครงการจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ฉบับใหม่ ซึ่งต้องเน้นให้เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น
2. ผลกระทบของอุทกภัยต่อแรงงานภาคเกษตร และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ช่วงที่ผ่านมามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งสิ้น 33 จังหวัด รวม 225 อำเภอ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาเบื้องต้นจากความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ทั้งนี้ อาจต้องมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อ นำไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือนและเป็นทุนในการทำการเกษตรอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ สถานการณ์ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ย. 64) ที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ และทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 3,246 ครัวเรือน ซึ่งอาจต้องมีการช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายด้วยเช่นกัน
3. ภาระค่าครองชีพที่อาจปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นได้ในอนาคต และกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ว่างงานชั่วคราวที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 7.8 แสนคน ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาในการดำรงชีพ
"ราคาน้ำมันมีโอกาสน้อยมากที่จะขึ้นไปแตะที่ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดังนั้นจึงต้องใช้มาตรการหรือกลไกที่มีอยู่แก้ปัญหาไปก่อน หากยังมีผลกระทบอยู่จะต้องดูเรื่องของภาษี ส่วนการใช้เงินกู้จะไม่ตรงกับข้อกฎหมายที่มีอยู่ ส่วนการกระตุ้นการบริโภค หรือช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ ต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดแรงส่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการที่มีอยู่ยังสามารถใช้ได้อยู่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการอื่นๆ" นายดนุชา กล่าว
4. การจัดการปัญหาการสูญเสียทักษะจากการว่างงานเป็นเวลานาน และการยกระดับทักษะให้กับแรงงาน เนื่องจากแรงงานมีการว่างงานยาวนานขึ้น และธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไป ทำให้แรงงานต้องมีการพัฒนาทักษะของตนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น (รูปแบบการทำงาน และเทคโนโลยี) โดยในระยะถัดไปภาครัฐอาจส่งเสริมให้แรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ว่างงานเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้เพิ่มขึ้น
5. การส่งเสริมให้แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มแรงงานนอกระบบในช่วงการระบาดที่ผ่านมา มีแรงงานเกือบ 7 ล้านคนได้สมัครเป็นผู้ประกันตนของมาตรา 40 จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับแรงงานกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ของการเป็นผู้ประกันตน และหามาตรการจูงใจเพื่อโน้มน้าวแรงงานให้คงสถานะเป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2/64 ว่า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.0% จากระดับ 4.7% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพี ลดลงจาก 90.6% ในไตรมาสที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน
ด้านคุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น แม้ว่าสัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.92% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันจาก 3.04% ในไตรมาสก่อนมาเป็น 3.51% รวมถึงลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียจากบัตรเครดิต 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี
ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ แม้ว่าทั้งปี 64 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว แต่เป็นการขยายตัวจากฐานต่ำ สะท้อนว่ารายได้ครัวเรือนยังคงไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และผลกระทบของอุทกภัยทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือน และเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค
ส่วนประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป คือ 1. หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากลูกหนี้ผิดนัดชำระจะต้องเสียดอกเบี้ยปรับในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่น 2. การส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ จากปัจจุบันที่หนี้เสียของครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการไม่รับรู้ถึงมาตรการช่วยเหลือ จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระ และเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ และ 3. การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในรอบครึ่งปี 64 พบว่า มีมูลค่าหนี้นอกระบบรวม 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่มีเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าจากปี 62