นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งการให้ ทีมไทยแลนด์ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และส่วนราชการไทยทุกแห่ง เร่งขับเคลื่อนสำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ตามยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมมาตรการการส่งออกในระยะถัดไป เช่น การผลักดันการส่งออกมันสำปะหลังไทยให้มีคุณภาพอันดับ 1 ของโลก ภายใต้ยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทยปี 64-67 เร่งรัดใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP หลังจากที่ไทยยื่นให้สัตยาบันแล้ว และ FTA ไทยกับคู่ค้าสำคัญ ตามแนวทางของนายกรัฐมนตรีในการรักษาตลาดเดิมสร้างตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่าที่เสียไป เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าผลักดันการส่งออกของไทยในตลาดต่างประเทศ เพื่อหลังเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน
นายกรัฐมนตรี สั่งการดังกล่าวหลังจากรับทราบรายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือน ต.ค.64 โดยตัส่งออกมีมูลค่า 22,738.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 17.4% และหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย จะขยายตัวได้ราว 12.2% สะท้อนภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการบริหารนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีการเติบโตทั้งในสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ การส่งออก 10 เดือนแรกของปี 64 ขยายตัว 15.7% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 19.6% ยืนยัน ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทยกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในปี 64 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น คือ 1.ทิศทางการค้าโลกขยายตัวต่อเนื่องจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2.ค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาให้กับสินค้าไทย 3.การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลายประเทศมีการเปิดประเทศมากขึ้นส่งผลดีต่อภาคการค้า 4.ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ และ 5.มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การค้าชายแดนเริ่มคลี่คลาย โดยด่านการค้าสำคัญจะกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง
กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ 1. สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ 3. สินค้า เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ 4. สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ เช่น เหล็ก เหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางยานพาหนะ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ และ 5. สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ)