นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2564 โดยที่ประชุมฯ วันนี้ ได้หารือใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ
1) การปรับแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางในการเข้าราชอาณาจักร ตามแผนการเปิดประเทศ ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 - 31 ธันวาคม 2564 โดยจะเริ่มใช้ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ได้แก่ การปรับวันกักตัว ปรับวิธีการตรวจในทุกรูปแบบที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2) การยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคโควิด 19 แบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้บริการผ่านช่องทาง e-Vaccine Passport สำหรับผู้เดินทางระหว่างประเทศ (1 - 31 ธันวาคม 2564)
3) เห็นชอบให้กรมการแพทย์จัดทำแผนปฏิบัติการจัดหายาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) รวมทั้งความก้าวหน้าการจัดหายารักษาโรคโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ซึ่งยาทั้งสองตัวเป็นยาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีโรคประจำตัวร่วม เช่น ภาวะอ้วน อายุมากกว่า 60 ปี โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง โดยผลการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่ายาทั้งสองชนิดนี้ ช่วยลดการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้มากกว่า 50% และไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับยาทั้งสองชนิด
นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทยขณะนี้มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตลดลง วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,335 ราย สะสม 2,081,572 ราย หายป่วยกลับบ้านได้ 7,218 ราย หายป่วยสะสม 1,987,089 ราย
ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้ฉีดไปแล้ว 90,468,955 โดส ครอบคลุมประชากร 47 ล้านคน จากกลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน ซึ่งยังมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนอีก 3 ล้านคน จึงกำชับให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงขยายการฉีดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยตั้งเป้าหมายครบ 100 ล้านโดสในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากผลสัมฤทธิ์ของการฉีดวัคซีน ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงชัดเจน แต่ยังพบคลัสเตอร์บ้างประปราย ได้ให้ทุกจังหวัดเตรียมแผนระบบการรักษา จัดหายาและเวชภัณฑ์ให้มีความพร้อมเสมอ
ในส่วนการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1-23 พฤศจิกายน 2564 มีผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานทั่วประเทศ ทั้งรูปแบบ Test & go Sandbox และ Quarantine สะสม 94,756 ราย พบผู้ติดเชื้อประมาณ 0.1% อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมโรคได้ ซึ่งจะสามารถดำเนินการควบคู่กับการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ พร้อมเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดทั้ง UP/Covid Free Setting เพื่อให้สามารถเปิดกิจการ กิจกรรมต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย ประชาชนใช้ชีวิตได้เป็นปกติที่สุด
นายอนุทิน กล่าวว่า มาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ มีความเข้มงวดเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงในการนำเชื้อมาแพร่ระบาด หากไม่ใช่การลักลอบเข้าเมืองก็ควบคุมได้ เช่น กำหนดให้ผ่านการฉีดวัคซีนครบโดส ผลการตรวจ RT-CPR ก่อนเดินทางและมาถึง การทำประกันสุขภาพ แต่การที่บางประเทศในยุโรปกลับมาปิดประเทศอีกครั้ง เพราะสถานการณ์กลับมาระบาดระลอกใหม่นั้น ก็ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระดับหนึ่ง
"เราพยายามหามาตรการที่จะทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีความปลอดภัย จะไปล็อกทุกอย่าง เศรษฐกิจก็เดินหน้าไม่ได้" นายอนุทิน กล่าว
ส่วนการผ่อนคลายให้เปิดสถานบันเทิงนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบการที่จะต้องดำเนินการตามมาตรการ Covid free setting เช่น พนักงานต้องได้รับวัคซีนครบโดส มาตรการคัดกรองลูกค้า หากผู้ประกอบการทำได้ก็พร้อมที่จะผ่อนคลาย แต่ตอนนี้ผู้ประกอบการยังไม่พร้อมก็ยังผ่อนคลายไม่ได้ ซึ่งมอบหมายให้กรมควบคุมโรคและกรอนามัยชี้แจงทำความเข้าใจถึงความจำเป็น
รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ยอมรับว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องการกลับมาระบาดระลอกใหม่ โดยสนับสนุนงบประมาณในการจัดเตรียมยารักษาและวัคซีนไว้อย่างเพียงพอ เพราะทุกครั้งที่เกิดคลัสเตอร์ใหญ่จะมาจากการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องจิตสำนึกของผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ต้องเร่งจัดการให้เรียบร้อย
"ถ้ามีคนทำนอกมาตรการ เกิดเหตุอะไรขึ้นมาก็ต้องมีมาตรการเข้มข้น รัฐบาลไม่อยากจะทำ แต่หากจำเป็นก็ไม่มีทางเลือก" นายอนุทิน กล่าว
ส่วนการขยายเวลา พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น จะเป็นการอำนวยความสะดวกในการทำงาน เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่เพียงการดูแลรักษา ไม่สามารถไปสั่งให้กักตัวใครได้