นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวก่อนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า มีความเป็นห่วงสถานการณ์โควิด-19 ในเดือน ธ.ค.64 เนื่องจากมีหลายเทศกาล และสถานการณ์ทั้งโลกจะเห็นว่าตัวเลขกำลังเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ของไทยก็จะปรับขึ้นมาตามยุโรปราว 2-3 เดือน
นพ.อุดม กล่าวว่า ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ของไทยวันนี้ไม่ได้ถือว่าลดลง เพราะทรงตัวอยู่ที่วันละ 5-7 พันรายมา 2-3 สัปดาห์แล้ว แสดงว่ายังไม่ได้ดีขึ้นเพราะไม่ได้ปรับลดลงต่อเนื่อง และยิ่งในต่างประเทศตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งไม่มีทางที่ตัวเลขในต่างประเทศปรับขึ้นแล้วไทยจะไม่ขึ้นตาม อย่างที่แอฟริกาที่มีเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งไม่นานก็มาฮ่องกงแล้ว เชื้อมันไปเร็ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พูดไปคือการเตือนแต่ขออย่ากังวลมากเกินไป
"อย่างเมื่อเช้าวันเดียวกันดูตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ของไทยเริ่มกระดกขึ้นมาแล้ว และหลังจากเราเปิดอะไรสักอย่าง 2-4 สัปดาห์ ผมเชื่อว่าตัวเลขมันต้องขึ้นแน่นอน เพียงแต่อาจจะไม่เยอะ แต่จะทำให้เป็นปัญหาเกี่ยวกับการเปิดประเทศ อยากย้ำว่าวัคซีนสำคัญสุด ต้องช่วยกันฉีด เป้าหมายฉีดเข็มแรก 50 ล้านคน ขณะนี้ฉีดไป 47 ล้านคนแล้ว เหลืออีก 3 ล้านคน และเดือน ธ.ค.จะครบเข็ม 2 วัคซีนเพียงพอแน่นอน อยากให้ช่วยกระตุ้นประชาชน อย่างน้อยไม่เจ็บป่วยรุนแรง" นพ.อุดม กล่าว
ส่วนการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ของ ศบค.คงต้องดำเนินการแน่นอนเพียง แต่ต้องเคร่งครัดเรื่องมาตรการพื้นฐานที่ใช้อยู่ ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ไม่เช่นนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อก็คงปรับขึ้นแน่นอน เพราะขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศเย็นไวรัสจะเติบโตได้ดี ขณะที่เรื่องวัคซีนเริ่มเห็นได้ชัดว่ายุโรปใช้วัคซีนที่ดีและฉีดให้ประชากรครอบคลุม 70-80% แต่ก็กลับมาระบาดใหม่
ดังนั้น สิ่งที่อยากจะเตือน คือ เมื่อฉีดวัคซีนแล้วเริ่มจะสบายใจ ซึ่งในยุโรปภาพตรงนี้ชัดมากพอฉีดวัคซีนแล้วไม่ใส่หน้ากากอนามัยเลย ไม่มีการเว้นระยะห่าง ทัศนคติตรงนี้ต้องช่วยกันปรับ
สำหรับการผ่อนคลายให้เปิดผับบาร์เร็วขึ้นกว่ากำหนดกลางเดือน ม.ค.65 จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น นพ.อุดม กล่าวว่า ในการประชุมครั้งก่อนลงมติไปแล้วว่าให้เปิดวันที่ 16 ม.ค.65 ไม่ใช่ไม่ให้เปิด ซึ่งตอนนี้ผู้ประกอบการต้องไปเตรียมการให้พร้อม สิ่งที่กังวลคือเรื่องถ่ายเทอากาศ เพราะถึงอย่างไรเรารู้ว่าจำกัดคนไม่ได้ เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ก็พูดคุยเสียงดัง มีน้ำลายและละอองต่างๆ แพร่เชื้อออกมา และที่สำคัญนั่งกันนาน นี่คือปัจจัยเสี่ยง เรามีตัวอย่างคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ในสถานบันเทิงมาแล้ว ดังนั้นอย่าให้มาเกิดอีก เพราะหากมีการระบาดใหม่จากจุดนี้อีกจะเป็นเรื่องใหญ่
"เราก็เข้าใจเขามีความเดือดร้อน รัฐบาลคงต้องเข้าไปเยียวยา แต่หากมาเปิดก่อนกลัวว่าปีใหม่จะไม่ได้ฉลอง ผมเองกังวลนะ เดี๋ยวจะพูดในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เนื่องจากเราจะมีการผ่อนคลายอะไรอีกหลายอย่าง กลัวจะไม่ได้ฉลองปีใหม่ อันนี้พูดตรงๆ ปีใหม่จะไม่ได้ฉลอง ถ้ามันขึ้นมาวูบๆ ตอนนี้ในยุโรป 4 หมื่นกว่าทุกวัน เยอรมนีก็ขึ้นมาเยอะ เราเดินตามหลังเขามา 2-3 เดือน ดังนั้นเราไม่อยากให้เกิด เราอุตส่าห์ทำดีแล้ว อย่างน้อยเราเคร่งครัดมาตรการมากกว่าเขา คงขึ้นบ้าง แต่อย่าให้ขึ้นมาก และคงทำให้เศรษฐกิจมันเดินได้ เรื่องผ่อนนายกฯ ก็ยอมผ่อน ผมก็พยายามดึงๆไว้บ้างว่ามันต้องพอเหมาะพอสม ไม่อย่างนั้นมันกลับมาใหม่ แล้วต้องล็อกดาวน์ใหม่ มันเรื่องใหญ่มาก" นพ.อุดม กล่าว