นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่พบใหม่นี้ว่า เป็นสายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้ มีการพบนอกแอฟริกาใต้แต่ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางมาจากแอฟริกาใต้ เช่น ในฮ่องกง โดยเป็นสายพันธุ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมประมาณ 50 ตำแหน่ง และมากกว่า 30 ตำแหน่งเกิดขึ้นบนหนามแหลมหรือสไปรท์โปรตีน
การเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งที่ภูมิต้านทานแอนติบอดีจะจับ เป็นที่เกรงว่าจะทำให้ไวรัสนี้ดื้อต่อวัคซีน และที่สำคัญไวรัสนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งที่เอนไซม์จะตัด cleavage site โดยเฉพาะเปลี่ยนเป็นกรดอะมิโนที่เป็นด่าง (K = lysine) ทำให้ง่ายต่อการตัดด้วยเอนไซม์ Furin ของมนุษย์ ไวรัสเข้าสู่เซลได้ง่าย หรือติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
ในส่วนของ non-structural protein 6 nsp6 มีการขาดหายของพันธุกรรม ในตำแหน่งนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้มีการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น ในส่วนของนิวคลีโอแคปสิดก็เช่นเดียวกันมีการพบการเปลี่ยนแปลงคล้ายสายพันธุ์อัลฟา
อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์นี้ยังพบจำเพาะที่อยู่ที่แอฟริกาใต้ การเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายของประชากรจะช่วยลดการแพร่กระจายของสายพันธุ์ดังกล่าวได้ โดยกฎเกณฑ์ของประเทศไทยโดยเฉพาะ Test&Go สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในกลุ่มแอฟริกาใต้ จะต้องมีมาตรการในการควบคุมดูแลเพิ่มขึ้น คงจะไม่เพียงแค่ Test&Go เท่านั้น เพื่อป้องกันการหลุดรอดของสายพันธุ์ดังกล่าวเข้าสู่ประเทศไทย