ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้พบจังหวัดชุมพรมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในทุกอำเภอ โดยเฉพาะบริเวณเทศบาลตำบลปากตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร วัดปริมาณน้ำฝน 24 ชั่วโมงได้สูงสุด 565 มิลมิเมตร ประกอบกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกได้มีประกาศ ฉบับที่ 6 (51/2564) ลงวันที่ 1 ธ.ค.64 เวลา 05.00 น.แจ้งหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมภาคใต้ตอนกลางได้เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันแล้ว ส่งผลให้ช่วงวันที่ 1-2 ธ.ค.64 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกยังคงมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งนั้น
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ฯ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้พบว่าพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงขอเน้นย้ำให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 1-3 ธ.ค.64 ดังนี้
1.เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณจังหวัดชุมพร (โดยเฉพาะอำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก และอำเภอหลังสวน ) สุราษฎร์ธานี ระนอง และตรัง
2.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำและมีปริมาณน้ำมากกว่า 90% มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง อ่างเก็บน้ำห้วยลึก อ่างเก็บน้ำคลองหยา อ่างเก็บน้ำบางกำปรัด และอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง จังหวัดกระบี่ อ่างเก็บน้ำบางวาด และอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ จังหวัดภูเก็ต
3.เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง และสถานการณ์น้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำเนื่องจากพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 0.50-1.00 เมตร บริเวณคลองชุมพร อำเภอเมืองชุมพร คลองหลังสวน อำเภอหลังสวน คลองสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร คลองอิปัน อำเภอพระแสง แม่น้ำตาปี อำเภอเวียงสระ อำเภอพระแสง อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม่น้ำตรัง อำเภอรัษฎา และอำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง และน้ำหลากข้ามถนนทางหลวงหมายเลข 41 สูงประมาณ 0.30-0.80 เมตร บริเวณทางน้ำหลากไหลผ่านและจุดตัดคลองหลังสวนและคลองสวี ในเขตพื้นที่อำเภอสวี อำเภอหลังสวน และอำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
ในการนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก
3.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
5.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์