นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงระหว่างเดือนธ.ค.-ก.พ. ของทุกปีเป็นช่วงหน้าหนาว สภาพอากาศแห้งและลมนิ่ง ทำให้ฝุ่นละอองสามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศจากการใช้งานยานพาหนะบนท้องถนน ประกอบกับมีฝุ่นละอองการก่อสร้างอาคาร และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ควันจากมลพิษ รวมทั้งการเผาป่า ทำให้มีการกระจายของฝุ่นละอองปกคลุมหนาเป็นบริเวณกว้าง
ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ เป็นสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีมาตรการผ่อนคลายในการทำกิจการ สถานประกอบการ และกิจกรรมต่างๆ เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน การจัดกิจกรรมคอนเสิร์ต การเปิดสถานศึกษาบางแห่ง การเปิดให้ท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ทำให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น
ดังนั้น ประชาชนจึงควรสวมหน้ากากอนามัยที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสามารถช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 โดยปัจจุบันค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ที่เป็นค่าวัดฝุ่น PM 2.5 มี 5 ระดับ ซึ่งระดับที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าอยู่ในระดับปกติ สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ
ทั้งนี้ หากค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน แต่หากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรตรวจสอบค่าฝุ่น PM 2.5 จากแอปพลิเคชัน "Air4Thai" และเว็บไซต์ www.air4thai.com ทุกครั้ง เพื่อประเมินความเสี่ยงและป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากาก PM 2.5 ตลอดเวลาเพื่อป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก วัยเรียน และกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เสี่ยงต่อการได้รับมลพิษทางอากาศระดับสูง แต่สามารถป้องกันได้ โดยมีข้อปฏิบัติ 7 วิธี ดังนี้
1. เลี่ยงทำกิจกรรมหรืองดออกกำลังกายกลางแจ้ง ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน
2. สวมหน้ากากอนามัยทั้งแบบผ้าหรือแบบบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน หรือสวมหน้ากาก N95 เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลานานๆ
3. ทำความสะอาดบ้าน และโรงเรียนให้สะอาดห้องปลอดฝุ่น
4. ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น เช่น การจุดธูป ปิ้งย่าง เผาขยะ เผาเศษใบไม้ เป็นต้น
5. หากพบเด็กหรือบุคคลในครอบครัวมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพาไปพบแพทย์
6. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเลี่ยงการออกนอกบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับมลพิษจากฝุ่น PM 2.5
7. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีอาการผิดปกติทางเดินหายใจควรพบแพทย์ทันที