นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2562 และ 2563 ซึ่งเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้รายงานผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการที่สำคัญ และการดำเนินการของ ก.พ.ร.ในรอบปีงบฯ 62 และ 63 ใน 4 มิติที่สำคัญ ได้แก่ ด้านพัฒนาการให้บริการประชาชน ด้านการปรับบทบาทภารกิจโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ด้านนโยบายการพัฒนาระบบราชการ ดังนี้
1. ด้านพัฒนาการให้บริการประชาชนในปี 62 ได้ผลักดันให้หน่วยงานราชการขับเคลื่อน การดำเนินงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 เช่น หน่วยงานดำเนินการยกเลิกการเรียกสำเนาเอกสาร บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียน และการปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชน พัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมผ่าน bizportal.go.th รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพ การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Doing Business)
โดยธนาคารโลก แถลงผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ Doing Business 2020 ไทยอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก สูงขึ้น 6 อันดับ มีคะแนน (Ease of Doing Business Score) เท่ากับ 80.10 คะแนน สูงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยมีด้านที่ติดอันดับ TOP 10 ของโลก 2 ด้าน ได้แก่ ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยอยู่ในอันดับที่ 3 และด้านการขอใช้ไฟฟ้าอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก มีการปฏิรูปการบริการภาครัฐที่ทำให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้นมี 1 ด้าน คือ ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง
สำหรับปี 63 ได้มีการพัฒนาระบบการให้บริการศูนย์กลางการบริการประชาชนในการติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (Citizen Portal) โดยประชาชนสามารถขอรับบริการจากภาครัฐได้ตลอดเวลาด้วยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย และพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) เพื่อยกระดับให้เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางครบวงจรเต็มรูปแบบ (Fully Digital Services) (ประกอบด้วย e-Authentication e-Signature e-Payment e-Receipted-License และ e-mail Notification) รวมถึงการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ได้แบบเบ็ดเสร็จ และกำหนดแนวทางการทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการ e-Service
2. ด้านการปรับบทบาทภารกิจโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐในปี 62 ได้มีการกำหนดแนวทางการมอบอำนาจ การแบ่งส่วนราชการภายในกรม (rearrange) และการยับยั้งการเพิ่มหน่วยงานใหม่ ตามแผนการปฏิรูปประเทศเนื่องจากไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่มีเป้าหมายให้ภาครัฐ มีขนาดที่เล็กลง รวมถึงการจัดตั้ง อว. เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ
สำหรับปี 63 ได้มีการปรับปรุงบทบาทภารกิจ และโครงสร้างของส่วนราชการ เพื่อให้ส่วนราชการสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและสร้างความเข้มแข็งในการบริหารเชิงพื้นที่และพัฒนาระบบบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ
3. ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐในปี 62 ได้มีการผลักดันการพัฒนาระบบราชการ 4.0 โดยการขับเคลื่อนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เช่น การบูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูลและการดำเนินงานโดยใช้เทคโนโลยีร่วมกัน และการนำเทคโนโลยี และอุปกรณ์ดิจิทัลมาสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลและการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
สำหรับในปี 63 ได้มีการปรับแนวทางการประเมินส่วนราชการ เนื่องจากเห็นว่าหน่วยงานต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 และมุ่งแก้ไข ปัญหาวิกฤตดังกล่าวโดยกำหนดแนวทางการประเมินส่วนราชการประจำปีงบฯ พ.ศ. 64 ให้สอดคล้องกับการทำงานในรูปแบบ New Normal เพื่อประเมินศักยภาพในการดำเนินงานสู่การเป็นระบบราชการ 4.0
4. ด้านนโยบายการพัฒนาระบบราชการในปี 62 ได้มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการขับเคลื่อนบริการภาครัฐ และพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมงานบริการภาครัฐ (GovLab) ให้ครอบคลุมงานบริการสาธารณะในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านการช่วยเหลือ ผู้ด้อยโอกาส และด้านการศึกษา รวมถึงการเสริมสร้างความซื่อตรงในการบริหารงานภาครัฐ
สำหรับในปี 63 ได้มีการกำหนดมาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤตเพื่อรองรับ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เช่น การให้ทุกหน่วยงานของรัฐทบทวนและปรับปรุง แผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต (Business Continuity Plan: BCP) ให้เป็นปัจจุบัน การพัฒนาระบบบริการดิจิทัลสำหรับการค้าระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าให้แก่ภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน บริการภาครัฐที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน
"การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ โดยเน้นการพัฒนาการทำงานของภาครัฐ ที่มีความสอดคล้องกับรูปแบบในฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เป็นสิ่งที่ภาครัฐปรับตัวและเตรียมการรองรับให้ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเชื่อมโยงการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อส่งมอบบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพให้กับประชาชน และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการพัฒนาระบบราชการ 4.0" นายธนกร กล่าว