นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่คลี่คลายแล้ว ประกอบกับความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้การจับจ่ายภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ระบุว่าสินค้าเกษตรเดือนธ.ค. 64 ที่มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม
- ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,736 - 7,944 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.44 - 3.14% เนื่องจากราคาข้าวขาวของประเทศไทยในตลาดโลกสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้เป็นอย่างดี ประกอบกับความต้องการของประเทศผู้นำเข้าในแถบทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย และตะวันออกกลาง ยังมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อไว้ใช้ในช่วงเทศกาลปลายปี
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 9,750 - 9,768 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.91 - 4.10% เพราะประเทศฮ่องกงซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิรายใหญ่ของประเทศไทย เร่งนำเข้าข้าวหอมมะลิฤดูกาลใหม่ เพื่อใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาอยู่ที่ 8.76 - 8.85 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.60 - 1.60% เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากเดือนก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้น ตามความต้องการบริโภคและส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับสัญญาข้าวสาลีส่งมอบเดือนมี.ค. 65 เพิ่มขึ้น 3.5 เซนต์ หรือ 0.42% จะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความต้องการสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพิ่มขึ้น
- ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 52.61 - 54.53 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.93 - 5.66% เนื่องจากปริมาณฝนโดยรวมของทั้งประเทศไทยจะกลับมาใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติประมาณ 10% ส่งผลต่อการกรีดยางพารา ทำให้ยางพาราออกสู่ตลาดลดลง รวมถึงมีการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส หลังจากที่เคยระบาดเป็นพื้นที่วงกว้างในประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย
- มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.22 - 2.32 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.78 - 7.41% เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตมันสำปะหลัง ปี 2564/65 ผลผลิตยังออกสู่ตลาดไม่มาก ขณะที่ลานมันสามารถกลับมาดำเนินการซื้อขายได้ตามปกติ หลังจากปัญหาอุทกภัยเริ่มคลี่คลาย ประกอบกับความต้องการใช้มันสำปะหลังของจีนยังสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้น
- สุกร ราคาอยู่ที่ 72.82 - 73.38 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.36 - 1.13% เนื่องจากความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่และวันหยุดยาว รวมไปถึงเริ่มมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ความต้องการเนื้อสุกรของร้านอาหารและธุรกิจการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น
- กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 149.64 - 157.47 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.20 - 8.60% เนื่องจากความต้องการบริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ประกอบกับผลผลิตกุ้งบางพื้นที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม และต้นทุนค่าอาหารกุ้งที่สูงขึ้น จากบริษัทผู้ผลิตอาหารกุ้งจะปรับราคาอาหารกุ้งเพิ่มขึ้น 3 - 5% จากราคาวัตถุดิบในการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรลดปริมาณการเลี้ยงกุ้งลง
ส่วนสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่
- ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 7,263 - 7,395 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน 0.75 - 2.52% เนื่องจากผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวนาปีออกสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมามากเกินความต้องการใช้ข้าวเหนียว เพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนและแปรรูปภายในประเทศ
- น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 19.20 - 19.87 เซนต์/ปอนด์ (13.99 - 14.49 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน 1.20 - 4.52% เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะปรับลดลง จากประเทศผู้ใช้น้ำมันหลักระบายน้ำมันออกจากคลังสำรอง ส่งผลให้ความต้องการเอทานอลปรับตัวลดลงตามไปด้วย จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการของประเทศบราซิลเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาล ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหนุนที่อาจทำให้ราคาน้ำตาลปรับเพิ่มขึ้นได้จากความต้องการนำเข้าของหลายประเทศ เพราะปริมาณน้ำตาลของประเทศผู้บริโภคเริ่มลดลงและค่าระวางเรือที่มีการปรับลดลงทำให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำตาลลดลง
- ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 7.88 - 8.38 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน 3.90 - 9.63% เนื่องจากมาตรการภาครัฐ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงสกัดตรึงราคาน้ำมันปาล์มดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดปรับตัวสูงขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหาร และผู้บริโภคในครัวเรือนที่ได้ผลกระทบหลัก
- โคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 94.50 - 95.00 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน 0.23 - 0.76% เนื่องจากรูปแบบการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปหลังจากโควิด-19 โดยลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน ประกอบกับมาตรการนำเข้าโคเนื้อที่ยังคงเข้มงวดของประเทศจีน จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกโคเนื้อของไทย จึงเป็นปัจจัยกดดันราคาโคเนื้อให้ปรับลดลง