นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจกับนักลงทุนต่างชาติ โดยยืนยันถึงการนำประชาธิปไตยกลับคืนมาโดยเร็วเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง พร้อมทั้งแนวทางสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
"ขณะนี้เราได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเงื่อนไขเวลาที่ตั้งไว้จะกลับสู่ประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่สมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง" พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดงานสัมมนากงสุลโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออก
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งท้าทายที่คนไทยทุกคนต้องเผชิญมาตั้งแต่เดือน ก.ย.49 ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ด้วยกรอบระยะเวลาที่จำกัด รัฐบาลได้ยึดมั่นต่อระเบียบวาระของตัวเองในการปฏิรูปการเมือง เพื่อที่จะสร้างรัฐบาลประชาธิปไตยธรรมมาภิบาล และสร้างความมั่นใจทั้งระดับชาติและนานาชาติ
รัฐบาลพยายามสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาธิปไตย และสนับสนุนความสมานฉันท์ รวมทั้งสนับสนุนหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล สิทธิของพลเมืองและเสรีภาพ โดยมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความโปร่งใส และผู้นำทางการเมืองในอนาคตจะให้ความสนใจต่อเรื่องประโยชน์และสวัสดิการประชาชนสูงสุด
"รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนได้รับข้อมูลและการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม...มั่นใจว่าไทยจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ตามกำหนดการที่วางไว้แน่นอน" พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น สิ่งหนึ่งที่ไทยไม่เคยเปลี่ยนคือ การเปิดตัวเองสู่โลกภายนอก ประเทศไทยมีความเต็มใจเสมอที่จะให้ข้อมูลต่างๆ แก่มิตรประเทศเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ เนื่องจากความต้องการสูงสุดของรัฐบาลชุดนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หลังวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้เติบโตและเข้มแข็ง โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางในการสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
"เป็นปรัญชาที่ถูกนำมาใช้ปฏิบัติ เพื่อเผชิญหน้าต่อความท้าทายต่างๆ ของโลกโลกาภิวัตน์ที่สภาพแวดล้อมทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและลึกซึ้ง ประเทศไทยได้นำแนวทางที่มีดุลยภาพมาปรับใช้ พร้อมๆ ไปกับการใช้ความอดทน การปกป้อง ระมัดระวัง ด้วยปัญญาและความสุขุมรอบคอบ" พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว
รัฐบาลได้ริเริ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานหลักการเศรษฐกิจมหภาคที่เหมาะสม คือ มีการเติบโตอย่างมั่นคง พร้อมๆไปกับการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม เพราะเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าไม่สามารถวัดได้จากตัวเลขต่างๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่แค่ความสามารถในการแข่งขัน แต่รวมถึงความพอใจและความเป็นธรรมทางสังคมด้วย
แม้การเปลี่ยนแปลงของโลกอาจทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยชะลอตัวไปบ้าง แต่มูลค่าการส่งออกในปีนี้ยังเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 16.1 รวมทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศก็มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเงินสำรองอัตราแลกเปลี่ยนของไทยอยู่ที่ 80 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังมีการลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐานและด้านพลังงาน พร้อมๆ กับการปรับปรุงเงื่อนไขทางการค้าและการลงทุนต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ จะพัฒนาจากความเข้มแข็งสู่ความแข็งแกร่ง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยยังมุ่งมั่นต่อเศรษฐกิจเสรีการตลาด และเป็นมิตรต่อการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือของอาเซียนที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เอเชียมีความเข้มแข็งและเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ซึ่งในสัปดาห์หน้านี้ไทยจะร่วมกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเพื่อลงนามปฏิญญาอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อประชากรของตนเองและเวลาที่เปลี่ยนไปได้ดียิ่งขึ้น
"ประเทศไทยไม่เพียงคงบทบาทของตนเองในการพัฒนาอาเซียนและภูมิภาค แต่ยังได้ขยายความร่วมมือกับชุมชนระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การสหประชาชาติ โดยหวังว่าจะสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางกับหุ้นส่วนต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ประเทศทั้งหลายไม่ว่าใหญ่หรือเล็กต่างก็มีบทบาทและความรับผิดชอบในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน เพื่อต่อสู้กับความท้าทายต่างๆ ของมนุษยชาติ" พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/ธนวัฏ/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--