นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากกรณีมีผู้ก่อเหตุลักลอบตัดสายใยแก้วนำแสง รถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น การรถไฟฯ ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจรถไฟ ขยายผลการจับกุมผู้ต้องหาคดีขโมยลักลอบตัดสายใยแก้วนำแสง รถไฟฟ้าสายสีแดง เผยดำเนินการจับกุมได้แล้วถึง 4 ครั้ง และครั้งล่าสุดจับกุมผู้ต้องหาได้อีก 1 คน โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ สั่งการเร่งส่งตัวดำเนินคดีเอาผิดทั้งแพ่งและอาญา และล่าสุดอยู่ระหว่างการขยายผลกับร้านค้าที่ทำการรับซื้อของดังกล่าว
ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการลักลอบทำลายทรัพย์สินของการรถไฟฯ ได้แก่ พ.ร.บ.จัดวางทางรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2464 มาตรา 84 ได้ระบุผู้ใดที่เข้าไปในที่ดินรถไฟนอกเขตที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าออก ถือว่ามีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น 1 และมาตรา 87 ระบุไว้ว่า ผู้ใดทำให้รถ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือสิ่งใดๆ อันเป็นทรัพย์สินของรถไฟเสียหายหรือชำรุด มีความผิดฐานลหุโทษต้องระวางโทษชั้น 1
นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ระบุว่า ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์เขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ดี ขอย้ำว่าการตัดชุดสายเคเบิลดังกล่าว เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับระบบจ่ายไฟฟ้า สำหรับป้องกันอันตรายการบำรุงรักษาของพนักงานที่ลงไปทำงานในเส้นทางรถไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ได้ส่งต่อการเดินรถหรือกระทบต่อความปลอดภัยในการให้บริการแก่ผู้โดยสารภายในขบวนแต่อย่างใด ที่สำคัญการรถไฟฯ ยังมีการใช้ช่างบำรุงรักษาของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลบำรุงรักษา ระบบงานกว่า 10 ปีเข้ามาช่วยดูแล เพราะเป็นระบบจ่ายไฟเหนือหัวรูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
พร้อมยืนยันว่า การรถไฟฯ ได้เพิ่มความเข้มข้นในการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยการจัดชุดเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวน และสุ่มตรวจในพื้นที่เสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนมีการเสริมแนวรั้วป้องกันเพิ่มเติมในจุดเสี่ยง และติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมเพื่อเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่