หมอธีระ เตือนโควิดในไทยมีโอกาสระบาดปะทุสูงขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมเสี่ยง

ข่าวทั่วไป Tuesday December 14, 2021 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เมื่อวานที่อังกฤษมีรายงานออกมาแล้วว่า เคสติดเชื้อโควิด-19 Omicron ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย โดยคนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 10 ราย ส่วนใหญ่มีประวัติได้รับวัคซีน 2 โดสไปแล้วด้วย เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนไม่ให้หลงไปกับมายาคติที่ว่า Omicron เป็นหวัดธรรมดา ไม่ตาย

สำคัญไปกว่านั้นคือ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับภาวะอาการคงค้างหลังจากการติดเชื้อ Omicron ที่รู้จักกันในชื่อ Long COVID ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด อาการคงค้างมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการมากที่กระทบอวัยวะ หรือระบบสำคัญในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น

สายพันธุ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ Long COVID พบได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง โดยต่างประเทศเคยมีการรายงานว่าสามารถพบได้ราว 43% (ช่วงความเชื่อมั่น 35%-51%) ของคนที่ติดเชื้อทั้งหมด แต่สำหรับ Omicron ยังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ เพราะเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งเจอกันแค่เดือนกว่าๆ เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องระวังเรื่องนี้ด้วย

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Prof.Alastair Grant ชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้การระบาดของ Omicron ใน UK นั้นมีการระบาดมากในเด็กและเยาวชนวัย Teenage และคนวัยทำงาน ซึ่งก็สอดคล้องกับอีกหลายประเทศ ยกเว้นในเดนมาร์กที่พบในคนสูงอายุมากขึ้น

ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องระวังให้ดี เพราะมีโอกาสเกิดการระบาดปะทุขึ้นมาสูง เพราะปัจจัยแวดล้อมทางนโยบายและสังคมในปัจจุบันมีความเสี่ยงมาก ทั้งเรื่องจำนวนคน จำนวนการพบปะกัน ระยะเวลาที่คลุกคลี ความใกล้ชิด และเป็นฤดูท่องเที่ยว และอากาศเย็น ครบองค์ประกอบในการระบาด

อีกทั้งวัยเด็กและเยาวชนนั้น มีทั้งช่วงวัยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และที่ยังได้วัคซีนไม่ครอบคลุม จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ในขณะที่วัยทำงาน คงชัดเจนว่ามาจากการทำงาน พบปะติดต่อกัน กินข้าวร่วมกัน ไปเที่ยวปาร์ตี้สังสรรค์กัน และไม่ได้ป้องกันตัว

จุดอ่อนเชิงระบบของไทยนั้น เป็นดังที่เคยนำเสนอให้เห็นแล้วว่าคือ ระบบการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐาน RT-PCR ในเชิงศักยภาพจำนวนการตรวจต่อวัน การเข้าถึงบริการ และกำแพงเรื่องค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้หากมีการระบาดปะทุขึ้นมาเหมือนระลอกสองและสาม ทุกคนได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแล้วว่าเป็นเช่นไร ดังนั้นจึงควรเสริมสร้างศักยภาพของระบบตรวจคัดกรองโรคให้เข้มแข็งขึ้น และเริ่มดำเนินการตะลุยตรวจมากขึ้น เพื่อดักหน้าโรค ด้วยเหตุผลเรื่องปัจจัยเสี่ยงปัจจุบันที่สูงขึ้นมาก

สุดท้ายแล้ว การใส่หน้ากาก และเว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะยาวถัดจากนี้ ควบคู่ไปกับการปรับตัว ปรับงาน ปรับสิ่งแวดล้อม เพื่อประคับประคองให้ทุกอย่างพอจะก้าวเดินไปได้ในยามที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดของสงครามโควิด-19


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ