สธ. เคาะแผนฉีดวัคซีนโควิดม.ค.65 เล็งทำระบบแจ้งเตือนเข็มกระตุ้นผ่านหมอพร้อม

ข่าวทั่วไป Thursday December 16, 2021 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สธ. เคาะแผนฉีดวัคซีนโควิดม.ค.65 เล็งทำระบบแจ้งเตือนเข็มกระตุ้นผ่านหมอพร้อม

นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้นโยบายการบริหารจัดการวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข เดือนม.ค. 65 ได้ผ่านมติที่ประชุมศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว โดยสามารถสรุปแนวทาง เพื่อนำไปดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ได้ ดังนี้

1. สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน

  • กลุ่มเป้าหมายอายุ 18 ปีขึ้นไป ให้ใช้สูตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม, แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มตามด้วยไฟเซอร์ 1 เข็ม หรือซิโนแวค 1 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม
  • กลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปี ให้ใช้สูตรวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม

2. สำหรับผู้ที่มารับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ให้เป็นไปตามกำหนดการที่เคยนัดหมายไว้

3. สำหรับผู้ที่ต้องการรับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น

  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ครบในเดือนส.ค.-ต.ค. 64 ให้พิจารณาฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นหลัก
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็ม ในเดือนส.ค.-ต.ค. 64 ให้พิจารณาฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ให้พิจารณาฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก

4. สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และต้องการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น

  • ให้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น ในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ หรือครบตามเกณฑ์น้อยกว่า 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ

ทั้งนี้ สามารถใช้สูตรอื่นที่ผ่านการรับรองทางวิชาการได้ ภายใต้จำนวนวัคซีนที่มีในพื้นที่

สำหรับมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วันที่ 13 ธ.ค. 64 ปรับจากมติที่ประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 9/2564 วันที่ 9 ธ.ค. 64 มีคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ดังนี้

1. กรณีได้รับวัคซีนเข็มที่ 1-2 จากบริษัทผู้ผลิตเดียวกัน

-วัคซีนซิโนแวค-ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม-ซิโนฟาร์ม จะได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา โดยระยะห่างระหว่างเข็มที่ 2 และ 3 คือ ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป

-วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า จะได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา โดยระยะห่างระหว่างเข็มที่ 2 และ 3 คือ ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

-วัคซีนไฟเซอร์-ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา-โมเดอร์นา จะได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา โดยระยะห่างระหว่างเข็มที่ 2 และ 3 คือ ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป

2. กรณีได้รับวัคซีนเข็มที่ 1-2 สูตรไขว้

-วัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม-แอสตร้าเซนเนก้า จะได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา โดยระยะห่างระหว่างเข็มที่ 2 และ 3 คือ ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

-วัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม-ไฟเซอร์ จะได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา โดยระยะห่างระหว่างเข็มที่ 2 และ 3 คือ ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

-วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ จะได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา โดยระยะห่างระหว่างเข็มที่ 2 และ 3 คือ ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป

ทั้งนี้ ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือกรุงเทพฯ บริหารจัดการวัคซีนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และจำนวนวัคซีนในพื้นที่ และคำแนะนำอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาด หรือจำนวนวัคซีนที่ได้รับมอบในแต่ละช่วงเวลา หรือข้อมูลการศึกษาวิจัยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับแนวทางการรับบริการวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นของประเทศไทย ในปี 65 มี 2 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบการแจ้งเตือน ให้มีระบบการแจ้งเตือนกำหนดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ตามแนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของ สธ. นอกจากนั้น วันนี้ สธ. ยังได้มีการประชุมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำระบบแจ้งเตือนประชาชนให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ผ่านแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" ด้วย

นพ.วิชาญ คาดว่า การแจ้งเตือนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ โดยจะใช้ระบบ "หมอพร้อม" จึงขอให้ผู้ฉีดวัคซีนแล้วดาวน์โหลดและลงทะเบียนหมอพร้อมไว้ ส่วนผู้ที่เข้าไม่ถึงหมอพร้อม ให้จังหวัดใช้ข้อมูลจาก Moph IC ดำเนินการนัดหมาย โดยหน่วยบริการฉีดวัคซีนต้องออกแบบกระบวนการนัดหมายให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

สำหรับ กทม. มีความซับซ้อนและมีหลายหน่วย ได้ประสานสำนักอนามัย กทม. วิเคราะห์จัดทำแผนเพื่อทำระบบแจ้งเตือน และเชิญชวนประชาชนมาฉีด ซึ่งเบื้องต้น กทม.จัดไว้ 6-7 จุด ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้อง walk in แต่ขอให้รอระบบแจ้งเตือนและนัดหมายก่อน เนื่องจากต้องทราบจำนวนผู้ที่จะฉีด เพื่อกระจายวัคซีนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

2. ระบบการลงทะเบียน ผู้ต้องการรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถแจ้งความประสงค์ฉีด โดยลงทะเบียนที่สถานพยาบาลใกล้บ้านที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดไว้, ลงทะเบียนผ่าน QR code หรือแอปพลิเคชันที่หน่วยบริการกำหนดให้ประชาชนลงทะเบียน, ลงทะเบียนที่หน่วยฉีดกลางบางชื่อ ผ่านเครือข่ายมือถือทั้ง 4 ค่าย หรือผู้ที่เคยรับการฉีดวัคซีนจากโครงการพิเศษต่างๆ เช่น ไทยร่วมใจ ประกันสังคม ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันที่แต่ละโครงการกำหนดไว้

ในส่วนของแนวทางการเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย คือ ให้ทุกจังหวัดจัดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุก เพื่อให้ประชากรทุกกลุ่มทั้งสัญชาติไทย และสัญชาติอื่น สามารถเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ได้โดยสะดวก, ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เข้ารับวัคซีนโดยเร็ว, ให้หน่วยบริการกำกับ ติดตามผู้ที่ได้รับเข็ม 1 แล้วให้เข้ารับการฉีดเข็มที่ 2

ขณะเดียวกัน ให้เน้นการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เข้าถึงยาก เช่น แรงงานประมง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร แรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดน ฯลฯ โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือกรุงเทพมหานนคร ประสานกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และภาคีเครือข่าย ให้จัดบริการหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ หรือจัดการรณรงค์เร่งรัดการฉีดวัคซีน เช่น ไปฉีดที่ท่าเรือ ตามบ้าน พื้นที่ห่างไกลตามหมู่บ้าน ตามแนวชายแดน หรือตามด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ เป็นต้น

"ในส่วนของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ขอให้ประชาชนใจเย็นๆ รอให้ สธ. ประสานดำเนินการให้ถึงพื้นที่ จะได้ไม่มีความสับสน ส่วนกรณีที่มีบางรายรีบไปหาวัคซีนมาฉีดเองในเข็ม 3-4 หากระยะเวลาการฉีดวัคซีนสั้นเกินไป ก็อาจไม่เกิดประโยชน์อย่างที่ต้องการ ทั้งนี้ ขอให้เป็นไปตามหลักการระยะเวลาการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม" นพ.วิชาญ กล่าว

พร้อมระบุว่า สำหรับคนที่ฉีดกระตุ้นเข็ม 4 โดยทิ้งระยะห่างจากเข็ม 3 เพียง 1 เดือน ถือว่าไม่มีประโยชน์ เนื่องจากการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายต้องใช้ระยะเวลาที่เหมาะสม จึงขอให้ฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการด้านวิชาการ โดยเดือนม.ค.65 คณะกรรมการจะพิจารณาการฉีดเข็ม 4 และวัคซีนเด็ก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ