นายชาตรี บุญนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวมีความเป็นห่วงเกษตรกรที่ปลูกข้าว เนื่องจากขณะนี้สภาพอากาศเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง หลายพื้นที่มีอุณหภูมิลดต่ำลง ทำให้ประสบกับปัญหา "ข้าวกระทบหนาว" ส่งผลให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ โดยพันธุ์ข้าวที่มีความอ่อนแอต่อสภาพอากาศหนาวเย็นนั้น ได้แก่ พันธุ์สุพรรณบุรี 3 ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับข้าวทุกระยะ
นายชาตรี กล่าวต่อไปว่า เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงนา และสังเกตความผิดปกติของต้นข้าว เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที สำหรับอาการของต้นข้าวที่ได้รับผลกระทบจากอากาศหนาวนั้น ประกอบด้วย ข้าวไม่งอก เติบโตช้า แคระแกร็น เหลือง ปลายรวงไม่พัฒนา อายุยืดออกไป เป็นหมันสูง ออกรวงช้า และสุกแก่ไม่พร้อมกัน
ทั้งนี้ ผลกระทบส่วนใหญ่ที่พบทั่วไป คือ เป็นหมันสูง ออกรวงช้า และสุกแก่ไม่พร้อมกัน โดยอาการเป็นหมันนั้นจะพบในช่วงวิกฤติในอุณหภูมิ 15-17 องศาเซลเซียส และจะพบอาการดังกล่าวในอุณหภูมิ 17-19 องศาเซลเซียส สำหรับพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอต่ออากาศหนาว
นอกจากนี้ อุณหภูมิต่ำยังส่งผลกระทบให้การสังเคราะห์แสงของข้าวลดลงอย่างมาก หากอุณหภูมิของรากและอากาศต่างกัน 5-7 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลในใบข้าวด้วย และพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอเมื่อกระทบต่ออุณหภูมิต่ำ ปริมาณโปรตีนในอับเรณูของข้าวจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า 2 เท่า และหากยังคงมีอากาศหนาวต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการออกรวง และผลผลิต แนวทางแก้ไข คือ ฉีดพ่นฮอร์โมน เช่น NAA หรือไซโตไคนิน เพื่อกระตุ้นให้ข้าวออกรวง