โดยโครงการดังกล่าว มุ่งเน้นการการพัฒนา กทม.ให้เป็น "มหานครสีเขียวแห่งอนาคต" มีวัตถุประสงค์ 6 ประการได้แก่ 1. การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง 2. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 3. การลด PM 2.5 และลดก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) 4. การเพิ่มคุณภาพอากาศ 5. การอัพเกรดคุณภาพชีวิตของประชาชน และ 6. การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลก
ในส่วนของเป้าหมายของโครงการกรุงเทพสีเขียว 2030 (Green Bangkok 2030) ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. เป็น 10 ตารางเมตรต่อคน สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในทุกระยะ 400 เมตร และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมืองให้เป็น 1.3 แสนไร่ พร้อมทั้งพัฒนาการเกษตร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่เมือง รวมทั้งการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มรายได้ และอาชีพในระดับชุมชนบนโมเดล BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ควบคู่ไปด้วยกัน
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนใน 3 ระดับ ทั้งคณะกรรมการบริหารโครงการระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับย่อยในพื้นที่ เป็นโครงสร้างและระบบครอบคลุมทั้งประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น 2 ประเภท คือ พื้นที่ของรัฐ (Public Space) เช่น บริเวณริมถนนและทางรถไฟ พื้นที่ใต้ทางด่วน เกาะกลางถนน สวนสาธารณะ สถานศึกษาของรัฐ พื้นที่ส่วนราชการ และพื้นที่สาธารณะว่างเปล่า
สำหรับพื้นที่ส่วนบุคคล (Private space) เช่น บ้าน ชุมชน โครงการจัดสรร คอนโด อาคารสำนักงาน พื้นที่ของการเคหะแห่งชาติ วัด โรงเรียน สถานศึกษา โดยส่งเสริมให้ปลูกไม้ยืนต้นไม้พุ่มไม้เลื้อย หรือไม้ในร่มโดยมีการพัฒนาเมืองสีเขียวได้หลายรูปแบบ เช่น ถนนสีเขียว (Green Road) หลักคาสีเขียว (Green Roof) ตึกสีเขียว (Green Building) สวนป่า (Forest Garden) มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ชุมชนสีเขียว (Green Community วัดสีเขียว (Green Temple) เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการเรียนรู้กับการอยู่ร่วมกันแบบแบ่งปัน
ส่วนการทำเกษตรในเมืองตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนมี 5 ประเภท ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ ทั้งในรูปแบบสวนขนาดเล็กและสวนขนาดใหญ่ สำหรับชุมชนใน กทม.จะได้รับการสนับสนุนในการสร้างอาชีพเกษตรกรรมในเมือง เพื่อสร้างรายได้เสริม และลดค่าครองชีพอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ จะมีตลาดเกษตร (Farm Market) เป็นตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ระดับคลัสเตอร์ และระดับเมือง เช่น ได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนกรุงเทพมหานครแล้ว และจะจัดตั้งคณะทำงานให้ครบทั้ง 50 เขตเป็นกลไกขับเคลื่อนระดับพื้นที่ เช่น กรีนตลิ่งชัน กรีนบางกะปิ กรีนบางนา กรีนห้วยขวาง กรีนบางแค และวันที่ 24 ธ.ค. นี้ จะคิกออฟโครงการวัดสีเขียว คลองสามวาสีเขียว ที่วัดพระยาสุเรนทร์ เป็นที่แรกบนความร่วมมือระหว่างวัด บ้านและโรงเรียน (บ.ว.ร.) ในเขตคลองสามวา
"โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง จะเป็นทิศทางใหม่ของการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของไทย และเป็นครั้งแรกของประเทศที่จะส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมในเมืองอย่างยั่งยืนในระดับนโยบาย คู่ขนานไปกับการพัฒนาภาคเกษตรในชนบท อีกทั้งยังส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนด้วย ซึ่งมหานครใหญ่ๆ ระดับ World City เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน ปักกิ่ง สิงคโปร์ ปารีส โตเกียว ฯลฯ ก็กำลังหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรรมในเมืองด้วยเช่นกัน" นายอลงกรณ์ กล่าว