นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการจำแนกสายพันธุ์เฝ้าระวัง ตั้งแต่เปิดประเทศถึง 23 ธ.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้วทั้งหมด 205 ราย เป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ 180 ราย และติดเชื้อจากในประเทศ 25 ราย โดยยังเป็นการติดเชื้อที่เชื่อมโยงจากผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ และยังไม่พบเคสตั้งต้นในประเทศไทย
สำหรับผู้ติดเชื้อในประเทศ 25 ราย ส่วนใหญ่มาจากคลัสเตอร์ 2 สามี-ภรรยา จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งขณะนี้ตรวจพบการแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์นี้ 20 ราย และยังมีอีก 5 ราย ที่ตัวอย่างยังไม่สมบูรณ์ จึงจะต้องมีการตรวจหาเชื้อใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้ ในภาคใต้ ยังมีคลัสเตอร์ที่ติดเชื้อจากกลุ่มผู้แสวงบุญอีก 3 ราย ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาในการสอบสวนเพิ่มเติม และก่อนหน้านี้มีกรณีติดเชื้อในประเทศของแม่บ้านในโรงแรม 1 ราย และภรรยานักบินอีก 1 ราย
"คาดการณ์ว่า จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ เนื่องจากโอมิครอนมีการแพร่ระบาดที่เร็ว ดังนั้น อยากให้ประชาชนช่วยกันลดความเสี่ยงด้วยการปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ เพื่อยันการแพร่กระจายให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ดี เท่าที่เห็นโอมิครอนไม่ได้รุนแรงมากนัก ยังไม่น่าวิตกกังวลมากเกินไป แต่ต้องช่วยกันรีบมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และเลี่ยงกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงว่าจะมีการแพร่เชื้อ" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ ยังได้อัปเดตข้อมูลของสายพันธุ์โอมิครอน โดยผลการศึกษาของฮ่องกง พบว่า จากการตรวจเชื้อในหลอดลม โอมิครอนสามารถติดเชื้อ และเพิ่มจำนวนเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เท่า ทั้งนี้ พบว่าโอมิครอนติดเชื้อที่ปอดได้น้อยกว่าเดลตา
ด้านสหรัฐอเมริกา จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 73% ในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ขณะที่สหราชอาณาจักร ขณะนี้พบการแพร่ระบาดของโอมิครอนจำนวนมาก พบว่าโอมิครอนมีอัตราของผู้สัมผัสเกิดป่วยเป็นโรคสูงกว่าเดลตา คือ การแพร่ระบาดของโอมิครอนในครัวเรือนเร็วถึง 15.8% ในขณะที่เดลตาอยู่ที่ 10.3% ส่วนการแพร่ระบาดของโอมิครอนในชุมชนอยู่ที่ 8.7% ขณะที่เดลตาอยู่ที่ 3%
สำหรับความรุนแรงของโอมิครอน กรณีติดเชื้อต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลอยู่ที่ 20-25% นอนโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป 40-15% ขณะที่เมื่อติดเชื้อเดลตา ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล 50% นอนโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป 61% ดังนั้น ความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอน ลดลงเมื่อเทียบกับการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา
ทั้งนี้ สอดคล้องกับผลการศึกษาของประเทศแอฟริกา (วันที่ 1 ต.ค.-30 พ.ย. 64) ที่ระบุว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน มีอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ความรุนแรงไม่ต่างกัน โดยกรณีติดเชื้อโอมิครอน ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลอยู่ที่ 2.5% ส่วนกรณีติดเชื้อสายพันธุ์อื่น ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลอยู่ที่ 12.8%
ทางด้าน CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ระบุว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เคยได้รับวัคซีน หรือเคยติดเชื้อมาก่อน คาดว่าจะมีอาการรุนแรงที่ลดลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ในขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลจากหลายการศึกษาที่ระบุว่า วัคซีนเข็มบูสเตอร์ ทำให้ระดับแอนติบอดี้กลับมามีค่าสูงขึ้น ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรืออย่างน้อยที่สุดก็สามารถป้องกันการเสียชีวิต หรืออาการรุนแรงได้ โดยการฉีดวัคซีน 3 เข็ม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความรุนแรงของโรคได้ 25 เท่า เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม