นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาพรวมมีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยัน ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตลดลง ขณะที่พบผู้ติดเชื้อจากโควิดสายพันธุ์โอมครอนเพิ่มขึ้น เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง ดังนั้น ภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไทย จึงเดินมาถึงทางแยกอีกครั้ง เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีศักยภาพในการแพร่ระบาดสูง
โดยสามารถแบ่งฉากทัศน์ของการคาดการณ์มาตรการป้องกันควบคุมโรค ไตรมาส 1/65 ออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
1. Least Favourable
- อัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดโอมิครอนในประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 30,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 170-180 รายต่อวัน โดยจะใช้ระยะเวลาในการควบคุมสถานการณ์ 3-4 เดือน
- สามารถฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 64 หรือเฉลี่ย 2-3 ล้านโดสต่อสัปดาห์
- ประชาชนให้ความร่วมมือ Universal Prevention (UP) น้อย ไม่มีการป้องกันขณะทำกิจกรรมที่รวมคนจำนวนมาก และสถานประกอบการ จัดกิจกรรมแต่ไม่สามารถปฎิบัติตาม VUCA ได้
2. Possible
- อัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดโอมิครอนในประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 15,000-16,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 80-100 รายต่อวัน
- สามารถฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 64 หรือเฉลี่ย 2-3 ล้านโดสต่อสัปดาห์
- ประชาชนยังให้ความร่วมมือ UP สถานประกอบการ จัดกิจกรรมปฎิบัติตาม VUCA ดี
3. Most Favourable
- อัตราการแพร่เชื้อโอมิครอนไม่สูงมากนัก เนื่องจากยังควบคุมการระบาดในประเทศได้ช่วงเดือนม.ค. 65 โดยคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 10,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 40-60 รายต่อวัน โดยใช้ระยะเวลาในการควบคุมสถานการณ์ 1-2 เดือน
- เร่งฉีดวัคซีนในทุกกลุ่มได้สูงขึ้น ทั้งเข็ม 1,2 และเข็มบูสเตอร์ มากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์
- ประชาชนให้ความร่วมมือ UP เต็มที่ ลดกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก สถานประกอบการจัดกิจกรรมปฎิบัติตาม VUCA อย่างเคร่งครัด และผับ บาร์เปิด แต่มีการควบคุมได้ดีมาก
"กระทรวงสาธารณสุข ปรึกษาหารือกันแล้วว่า อยากให้สถานการณ์ในประเทศเป็นฉากทัศน์ที่ 3 โดยที่ผ่านมา เราสามารถควบคุมอยู่ในระดับที่น่าพอใจตลอดมา ประชาชนต้องร่วมมือกัน เพื่อไม่ให้เกิดการล็อกดาวน์ประเทศ" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
สำหรับจำนวนเตียงปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1 แสนเตียง ซึ่งขณะนี้ใช้ไปเพียง 13.7% จึงยังมีเพียงพอรองรับในกรณีที่มีการแพร่ระบาดจำนวนมากขึ้น ส่วนสถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลือ 15,692,580 เม็ด และยาเรมเดซิเวียร์คงเหลือ 44,064 เม็ด
"หากทุกภาคส่วนช่วยกันปฎิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด สถานการณ์โควิดหลังปีใหม่ตามการคาดการณ์ อาจพบติดเชื้อและเสียชีวิตไม่เพิ่มสูงมากช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 65 แต่คาดว่าการติดเชื้อโอมิครอน จะพบผู้ป่วยอาการหนักน้อยกว่าเดลตา ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่ถึงแม้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มก็สามารถติดได้ จึงขอให้ประชาชนรีบมารับวัคซีนเข็ม 3 เพื่อป้องกันโอมิครอน" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงอาการอาการของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนว่า ข้อมูลเบื้องต้นจากต่างประเทศ (วันที่ 27 ธ.ค. 64) คือ อาการไม่แตกต่างจากอาการของโควิดสายพันธุ์อื่นๆ มากนัก ส่วนใหญ่มีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้ เจ็บคอ ไอแห้ง โดยพบบางรายมีอาการปอดอักเสบ แต่ไม่มาก ซึ่งจะให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ หลังมีอาการภายใน 3 วัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น และหายเป็นปกติ
สำหรับประเทศไทยหลังตรวจพบ 100 รายแรกที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า ไม่มีอาการ 48% มีอาการ 41% และอยู่ระหว่างติดตามข้อมูลอีก 11% ทั้งนี้ ยังไม่มีผู้ป่วยรายใดต้องใส่ท่อช่วยหายใจ โดยพบเพียง 7 รายที่มีอาการปอดอักเสบ
ส่วนการเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล ในการเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วย แบ่งระดับเตียงใหม่ตามความรุนแรงของโรค เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสม โดยสามารถแบ่งได้ ดังนี้
- เตียงระดับ 0 ระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI)
- เตียงระดับ 1 ไม่ใช้ออกซิเจน
- เตียงระดับ 2 แบ่งเป็นใช้ oxygen low flow และใช้ oxygen high flow
- เตียงระดับ 3 ใส่ท่อ และเครื่องช่วยหายใจ
"จากฉากทัศน์กรณีที่การแพร่ระบาดอยู่ในจุดที่แย่ที่สุด มีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 30,000 รายต่อวัน ซึ่งขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วยอยู่ที่ 52,300 คนต่อวัน จึงถือว่ายังเพียงพอ" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วย ระบบ HI ให้สถานพยาบาลโทรกลับหาผู้ป่วยให้เร็วขึ้น เป็นภายใน 6 ชั่วโมง หลังทราบผลติดเชื้อ เตรียมพร้อมอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ เทอร์โมมิเตอร์ ส่วนระบบ CI จะมีแนวทางเวชปฎิบัติการดูแลรักษาโควิด-19 ที่ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มีการจัดหายาต้านไวรัสโควิด-19 ใหม่ๆ และให้การรักษาตามอาการ
สำหรับการเตรียมความพร้อมรักษาผู้ป่วยเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้มีการเตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์ การสนับสนุนยาในระยะแรก และให้ความรู้การดูแลผู้ป่วยเด็กกับเครือข่าย HI และ CI พร้อมประสานการจัดเตรียมเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เช่น หน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก และจัดเตรียมเตียงระดับ 3 สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรง
"วันนี้ได้มีข้อสั่งการศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉิน สธ. กระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้พื้นที่ดำเนินการ เตรียมความพร้อม HI และ CI ทุกโรงพยาบาล อัพเดตจำนวนเตียงระดับ 2 และ 3 ทุกอาทิตย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมปรับเกณฑ์ Hospitel โดยจะเสนอเข้าครม. พรุ่งนี้ และการดูแลรักษาแรงงานต่างด้าวใน Factory Isolation" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ ได้กล่าวถึงกรณีที่ประเทศฝรั่งเศสยกเลิกการจัดซื้อยาโมนูลพิราเวียร์ว่า ได้มีการสอบถามไปยังบริษัท ซึ่งบริษัทระบุว่ายังไม่มีการยกเลิกคำสั่งซื้อแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันประเทศอังกฤษ และญี่ปุ่นก็มีการสั่งซื้อยาโมนูลพิราเวียร์เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความรู้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการเจรจาขอดูข้อมูลของประเทศที่มีการสั่งซื้อยาจากบริษัท
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (สธ.) กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ประเมินสถานการณ์ และมีระบบการเตือนภัยโรคโควิด-19 (Alert Level) แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ 1 New Normal (ใช้ชีวิตได้ปกติ), ระดับ 2 Alert (เร่งเฝ้าระวัง คัดกรอง), ระดับ 3 Activated (จำกัดการรวมกลุ่ม), ระดับ 4 Considerable (ปิดสถานที่เสี่ยง) และระดับ 5 Restricted (จำกัดการเดินทาง)
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่า ความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 3 Activated (จำกัดการรวมกลุ่ม) โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ดังนี้
1. ปฏิบัติตามมาตรการ Covid-Free Setting อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสถานที่เสี่ยงระบบปิด เช่น ร้านอาหารที่เป็นห้องปรับอากาศ ทั้งการฉีดวัคชีน และตรวจหาเชื้อของพนักงานด้วย Antigen test Kit (ATK) และคัดกรองลูกค้าก่อนใช้บริการ เว้นระยะห่างให้เพียงพอ ปรับการหมุนเวียนอากาศ
2. หากเริ่มมีผู้ใช้บริการหนาแน่น แออัด อาจใช้ระบบจองคิว และการรอคิวที่มีการเว้นระยะห่าง และแนะนำลูกค้าปฏิบัติตาม UP อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชน ดังนี้
1. เน้นย้ำ VUCA ป้องกันโควิด-19 ทุกสายพันธุ์
2. ให้สวมหน้ากาก 100% ขณะอยู่กับผู้อื่น เว้นระยะห่างจากผู้อื่น ระลึกเสมอว่าผู้อื่นมีโอกาสเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโควิด-19
3. รีบไปรับการฉีดวัคซีนทั้งเข็ม 1, 2 และเข็มบูสเตอร์ สำหรับกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) เพื่อลดการป่วยหนัก หากติดเชื้อโควิด-19
4. ชะลอเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นให้ใช้มาตรการ UP ขณะเดินทางและพำนักต่างประเทศ และตรวจหาเชื้อก่อนกลับประเทศ และขณะกักตัว
5. เลี่ยงการร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก โดยเฉพาะในสถานที่ระบบปิด หรือที่มีโอกาสถอดหน้ากากเกิน 30 นาที เช่น ทานอาหารในร้านอาหารห้องปรับอากาศ สถานบันเทิง กิจกรรมทางศาสนาที่รวมคนจำนวนมาก
6. ให้ปฏิบัติตามมาตรการ UP ขณะโดยสารขนส่งสาธารณะ หากโดยสารเกิน 4 ชั่วโมง ให้ตรวจ ATK ก่อน
7. เลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ทั้งคนในครอบครัว และคนที่รู้จักกัน รวมทั้งคัดกรองตรวจหาเชื้อ ก่อนกลับมาทำงานหลังเทศกาลปีใหม่
นพ.โอภาส ยังได้กล่าวถึงการประเมินการแพร่ระบาดในกรณีเลวร้ายที่สุด ที่คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 30,000 รายต่อวัน ซึ่งประเมินว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะน้อยกว่าของประเทศอังกฤษที่อยู่ที่ 100,000 รายต่อวัน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน 60-70 ล้านคน จำนวนการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 ก็ใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่ประเมินแล้วว่าไทยน่าจะดีกว่า คือ ความร่วมมือของประชาชนที่เข้มข้นกว่าประเทศอื่นๆ จากการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ที่มากขึ้น ประกอบกับมาตรการการใส่หน้ากากตลอดเวลา การปฎิบัติตาม Covid Free Setting และการตรวจ ATK ด้วยตนเอง จึงคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะไม่สูงอย่างประเทศอังกฤษ
สำหรับการฉีดวัคซีนในเด็ก ขณะนี้องค์การอาหารและยา (อย.) ได้อนุญาตการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีแล้ว ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนจะเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมเรื่องวัคซีน และการสอบถามความประสงค์ในการฉีดวัคซีน โดยคาดว่าหลังปีใหม่จะสามารถเริ่มฉีดวัคซีนในเด็กได้