นพ.ยง คาดหลังปีใหม่โควิดระบาดระลอก 5 แน่หากปชช.ไม่ร่วมมือ แนะเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3

ข่าวทั่วไป Tuesday December 28, 2021 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอนเพิ่งเกิดขึ้นเพียง 1 เดือนกว่าเท่านั้น แต่มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตา อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทั่วโลกยังพบสายพันธุ์เดลตามากกว่า แต่คาดว่าภายใน 1-2 เดือน ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จะพบสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาแทนที่เดลตาทั้งหมดอย่างแน่นอน ทั้งนี้ โรคโควิด-19 จะยังไม่เป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคหวัดทั่วไป ถ้าหากอัตราการตายยังเกิน 1% ซึ่งถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

"ขณะนี้ไทยพบโอมิครอนอยู่ที่ 6.5% แต่เชื่อว่าหลังปีใหม่ จำนวนผู้ป่วยจากโอมิครอนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจเกิดเวฟ 5 ได้ หากประชาชนทุกคนไม่ช่วยกัน" นพ.ยง กล่าว

นพ.ยง ยังได้กล่าวถึงการเดินทางเข้าประเทศด้วยวิธี Test&Go ว่า เป็นวิธีที่ทำให้โอมิครอนมีโอกาสหลุดรอดได้สูงมาก อย่างกรณีนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส 2 รายที่เข้ามาในระบบ Test&Go ที่เมื่อตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR ปรากฎว่าผลเป็นลบ จึงเดินทางไปสังสรรค์กับเพื่อน แต่มีการตรวจพบเชื้อในภายหลัง และพบว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งกว่าจะตรวจเจอก็ผ่านไปหลายวันแล้ว และเมื่อตรวจหาเชื้อจากผู้ร่วมสังสรรค์ทั้ง 10 รายก็พบว่าติดเชื้อ ซึ่งคาดว่าทั้งหมดเป็นเชื้อโอมิครอน

ทั้งนี้ สามารถสรุปข้อมูลล่าสุดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ได้ดังนี้

1. โอมิครอนสามารถติดต่อได้ง่าย จากกรณีของนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสที่มีการสังสรรค์กับเพื่อน 10 ราย พบติดเชื้อทั้งหมด 10 ราย ในขณะที่เดลตาหากมีการสังสรรค์ 10 ราย จะพบการติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 6 ราย

2. โอมิครอนสามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้จริง โดยมีข้อมูลชัดเจนแล้วว่า ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไรก็ตาม ยังสามารถติดเชื้อได้ จึงมีความจำเป็นต้องฉีดเข็ม 3

3. ความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จากการศึกษาในประเทศแอฟริกาใต้ พบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อต้องเข้านอนในโรงพยาบาลน้อยกว่าเดลตาถึง 70%

อย่างไรก็ดี เมื่อพบการแพร่ระบาดของโอมิครอนในประเทศ ประชาชนจึงมีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อลดความรุนแรงของโอมิครอน เช่น กรณีที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายมาก่อน 2 เข็ม ถ้ากระตุ้นเข็ม 3 ด้วยเชื้อตายจะมีอาการข้างเคียงต่ำสุด ภูมิต้านทานขึ้นไป 10 เท่า ถ้ากระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไวรัลเวกเตอร์ จะมีอาการข้างเคียงค่อนข้างมาก ภูมิต้านทานขึ้นไป 100 เท่า ส่วนถ้ากระตุ้นด้วย mRNA จะมีอาการข้างเคียงมาก โดยเฉพาะ mRNA เข็ม 3 อาการจะมากกว่าเข็ม 1 และเข็ม 2 โดยภูมิต้านทานจะขึ้นไปถึง 200 เท่า อย่างไรก็ดี ภูมิยิ่งขึ้นสูงมากก็จะยิ่งลดลงเร็วมากเช่นกัน ดังนั้น สามารถสรุปผลการศึกษาได้ว่าถ้าฉีดเข็มกระตุ้นด้วยไวรัลเวกเตอร์ หรือ mRNA น่าจะเพียงพอในการป้องกันโอมิครอนได้

"ระยะห่างของโดสมีความสำคัญมากในเข็มกระตุ้น เนื่องจากผลภูมิต้านทานที่ได้จะแตกต่างกัน โดยพบว่าเกือบทุกวัคซีนถ้าให้ยิ่งห่างยิ่งดี ในขณะที่แอสตร้าเซนเนก้าระหว่าง 3 เดือนและ 6 เดือนไม่ค่อยเห็นความแตกต่างมากนัก เดิมทีอยากให้ได้รับบูสเตอร์ห่าง 6 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้ดีกว่า แต่ขณะนี้ต้องปรับเปลี่ยนให้ฉีดเร็วขึ้น เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโอมิครอน" นพ.ยง กล่าว

นอกจากนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างศึกษาการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 3 เข็ม (Triple A) โดยเบื้องต้นมีข้อมูลในเข็ม 1 และเข็ม 2 ว่า ภูมิต้านทานที่เว้นระยะห่างน้อยกว่า 6 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจะขึ้นน้อยกว่าการเว้นระยะห่าง 6-12 สัปดาห์ และภูมิจะยิ่งสูงขึ้นเมื่อเว้นระยะห่างมากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ถ้าเว้นระยะห่างนานขึ้น จะมี Booster Effect แต่ระดับภูมิต้านทานต่อเข็มแรก จะสูงไม่พอสายพันธุ์กลายพันธุ์ อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็ม 3 ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงกว่าแอสตร้าเซนเนก้า แต่ภูมิที่ขึ้นสูงมากๆ ก็จะลดลงเร็วด้วย

ในขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการฉีดวัคซีนแบบสลับ สูตรวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า โดยจะทำการศึกษาการฉีดบูสเตอร์เข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โมเดอร์นา และไฟเซอร์ ซึ่งได้มีการดำเนินการไปแล้ว โดยคาดว่าเดือนหน้าจะสามารถวิเคราะห์ผลได้ทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ