(เพิ่มเติม) สธ.เตรียมเสนอยกระดับบางพื้นที่เป็นสีส้ม-เลื่อนเปิด Test&Go ย้ำเข้มมาตรการเพื่อความปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Thursday January 6, 2022 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) สธ.เตรียมเสนอยกระดับบางพื้นที่เป็นสีส้ม-เลื่อนเปิด Test&Go ย้ำเข้มมาตรการเพื่อความปลอดภัย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังเทศกาลปีใหม่ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้แล้ว และมีแผนจัดการในหลายระดับของความรุนแรงของการระบาด โดยได้ปรับมาตรการทุกด้าน เช่น มาตรการการคัดกรอง การควบคุมโรค การแยกกักตัว

โดยทางกรมควบคุมโรค จะยกระดับบางพื้นที่ให้ขึ้นเป็นสีส้ม ซึ่งจะมีการจำกัดการบริโภคของมึนเมา นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่อง Test&Go ที่ผู้ลงทะเบียนไว้ต้องกลับมาในเวลาที่กำหนด และต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

"เรากำลังจัดการปัญหาเรื่องนี้อยู่ ล่าสุดได้เสนอให้เลื่อนกำหนดในการเข้าประเทศไทยจากวันที่ 10 ม.ค.65 ไปเป็นวันที่ 15 ม.ค.65 แทน"

ปัจจุบันเรากำลังเจอปัญหาเรื่องการประกันที่นักเดินทางซื้อเข้ามา แม้จะบอกว่ามีเงินคุ้มครอง 5 หมื่นดอลลาร์ แต่ในทางปฏิบัติจริงการประกันกลับมีเงื่อนไขมากมายที่ไม่สามารถทำได้จริงหากพบว่าติดเชื้อ ทางภาครัฐก็รับรักษาตามหลักมนุษยธรรมแน่นอน ณ จุดนี้ ต้องคัดกรองนักท่องเที่ยว เราต้องเลือกนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยของประเทศ

"กระทรวงสาธารณสุข เราพร้อมทำงานเพื่อสุขภาพของประชาชน อย่างไรก็ตามข้อเสนอของ สธ.ก็ขอให้ได้รับการพิจารณา การที่เราเสนอไปในหลายๆ เรื่อง ไม่ใช่ว่าเราขี้เกียจ หรือไม่อยากทำงาน แต่เราเป็นห่วงคนไทย เป็นห่วงสุขภาพของท่าน" นายอนุทิน กล่าว

พร้อมระบุว่า ต้องเฝ้าระวังติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในระลอกนี้ ต่อเนื่องอีกประมาณ 7-10 วัน จึงจะทราบสถานการณ์ที่แน่ชัด ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมทั้งระบบ ยา เวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการ ผู้ป่วยที่ต้องใช้ห้อง ICU ไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มไม่มากเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว หากการติดเชื้อยังมีอัตราเพิ่มขึ้นตามปกติจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว

สำหรับด้านการรักษากระทรวงสาธารณสุขมีมาตรฐานในการดูแล โดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์ หากผู้ป่วยไม่มีอาการ ขอความร่วมมือให้เข้าระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation เพื่อสำรองเตียง เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และ บุคลากรทางการแพทย์ไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก

"ผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องสังเกตและวิเคราะห์ในรายละเอียดว่า ผู้ติดเชื้อดังกล่าวมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง มีอาการหนักเท่าไร ต้องใช้ห้องไอซียูเท่าไร ซึ่งหวังว่าจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะได้ฉีดวัคซีนแล้ว การระบาดระลอกนี้ต้องขอเวลาประมาณ 7-10 วัน เพื่อดูรายละเอียดที่ชัดเจน อาทิ วันนี้ป่วยไป 5.7 พันราย แต่ความสูญเสียไม่ถึง 20 ราย ในอนาคตอัตราส่วนจะยังคงที่หรือเพิ่มขึ้น เราอยู่กับข้อมูล และปรับแผนต่อเนื่องให้ทันกับสถานการณ์ของโรค

สำหรับการรักษาขอให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์ ถ้าอาการไม่รุนแรงแล้วแพทย์ให้กักตัวที่บ้าน ก็ต้องเข้าใจ เพราะเราต้องเตรียมอุปกรณ์และทรัพยากรอื่นไว้รักษาผู้ที่มีอาการปานกลางไปจนถึงหนัก เพื่อจำกัดยอดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด ส่วนเรื่องมาตรการ ขอย้ำว่าเราคำนึงถึงในทุกมิติ" รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. มีความพร้อมในการดูแลผู้ติดเชื้อ โดยมีระบบสายด่วน 1330 จับคู่ผู้ป่วยเข้าระบบ Home Isolation และ Community Isolation รองรับสายเข้าพร้อมกันได้ทั้งหมด 3,000 สาย มีเจ้าหน้าที่รับสายจำนวน 300 คน ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่ผ่านมา มีผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาขอเตียงทั้งหมด 1,709 คน นำเข้าระบบกรมการแพทย์ได้ภายใน 6 ชั่วโมง ขอให้ความมั่นใจว่าแม้ผู้ติดเชื้อจะอยู่ที่บ้าน ก็สามารถดูแลได้เหมือนกับอยู่ที่โรงพยาบาล มีหน่วยบริการ อาหาร ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ดูแลตามมาตรฐาน คาดว่าจะรองรับสถานการณ์ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ