นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังตรวจความพร้อมการเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) เกียกกาย เขตดุสิต เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรณีมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การติดเขื้อผู้ป่วย-19 มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ได้กำชับให้จัดเตรียมความพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อไว้จำนวน 41 แห่ง รวม 5,158 เตียง ทั้งทางด้านบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ ให้แล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการภายในวันที่ 7 ม.ค.65 โดยขณะนี้ได้ดำเนินการจัดเตรียมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อไว้พร้อมแล้ว 13 แห่ง มีจำนวนเตียงพร้อมรองรับรวม 1,826 เตียง ส่วนที่เหลืออีก 28 แห่งจะสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.65 อีกจำนวน 3,332 เตียง ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ครองเตียง 137 ราย (8 ม.ค.65) คงเหลือ 5,021 เตียง
สำหรับศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเฉพาะสำหรับเด็กและครอบครัวที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย เป็น 1 ใน 13 แห่งแรกที่เปิดให้บริการได้ก่อน สามารถรับผู้ป่วยเด็กอายุ 5-12 ปี แบ่งเป็น ชาย 26 คน และหญิง 26 คน เดิมปรับเป็นสแตนด์บายโหมดอยู่แล้ว หากมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นเด็กอายุ 5-12 ปี ก็สามารถรับผู้ติดเชื้อมาดูแลได้ทันที
ส่วนศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อประจำกลุ่มเขตที่พร้อมเปิดให้บริการอีก 12 ศูนย์ฯ ได้แก่ 1.บริษัท RBS Logistic จำกัด เขตลาดพร้าว 175 เตียง 2.โรงเรียนการไปรษณีย์ เขตหลักสี่ 118 เตียง 3.ประปาแม้นศรี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 100 เตียง 4.ศูนย์ตันปัน เขตห้วยขวาง 145 เตียง 5.วัดสะพาน เขตคลองเตย 500 เตียง 6.นาซ่าแบงค์คอก เขตสวนหลวง 92 เตียง 7.ศูนย์พักคอย กทม. เขตคันนายาว 127 เตียง 8.ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตบางกะปิ 133 เตียง 9.ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตทวีวัฒนา 114 เตียง 10.ศูนย์สร้างสุขทุกวัย (สตรี) เขตบางกอกใหญ่ 50 เตียง 11.วัดกำแพง เขตภาษีเจริญ 100 เตียง และ 12.ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตบางขุนเทียน 120 เตียง
นอกจากการเปิดบริการศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 ทั้ง 13 แห่งแล้ว กทม.ยังได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามจำนวน 4 แห่ง และโรงพยาบาลสนามประจำกลุ่มเขตทั้ง 6 กลุ่มเขต (District Field Hospital/CI Plus) จำนวน 7 แห่ง โดยดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐและเอกชน จำนวนเตียงรวมทั้งสิ้น 4,974 เตียง รวมถึงเตรียมความพร้อมทั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยเพิ่มเติมอีก 25,345 เตียง แบ่งออกเป็น โรงพยาบาลหลัก 2,922 เตียง โรงพยาบาลสนาม 2,898 เตียง และ Hospitel 19,525 เตียง
ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมพร้อมทีมแพทย์และพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยประจำศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ จัดเตรียมยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านแบบ Home Isolation (HI) ซึ่งอาจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเตรียมความพร้อมศูนย์เอราวัณเพื่อรับส่งผู้ป่วย เข้าสู่ระบบการรักษาตามอาการความรุนแรงของโรคให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานเขต 50 เขต สำนักเทศกิจ โรงพยาบาลสังกัด กทม. และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในการวางแผนตรวจคัดกรองโรคให้ประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รวมทั้งฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อ การเจ็บป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต อีกทั้งมีการบริหารจัดการศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ และ Hospitel ตามแนวทางของหน่วยงานเครือข่าย ตลอดจนลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หากมีผลเป็นบวกจะตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR หากพบผลติดเชื้อจะประสานศูนย์เอราวัณ เพื่อประเมินอาการเบื้องต้นอีกครั้ง ก่อนนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามอาการความรุนแรงของโรค
ปลัด กทม. กล่าวว่า กรณีประชาชนติดเชื้อโควิด-19 สามารถแจ้งเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทางสายด่วน โทร.1330 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีการประเมินอาการและนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด แต่หากมีกรณีฉุกเฉินสามารถติดต่อผ่านศูนย์เอราวัณ โทร.1669 ได้อีก 1 ช่องทาง เจ้าหน้าที่จะช่วยประสานข้อมูลเข้าสู่ระบบการรักษาตามอาการต่อไป นอกจากนี้ กทม.จะเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต กลับมาดำเนินการให้บริการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษาทางสายด่วนโควิด-19 ของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต อย่างเต็มรูปแบบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การนำส่งผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนป้องกันตนเองด้วยการหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่เสี่ยงต่างๆ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หรือว่าไปในที่มีคนจำนวนมาก ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือบ่อยๆ หรือเมื่อสัมผัสสิ่งเสี่ยงติดเชื้อ หากเป็นไปได้ให้พกแอลกอฮอล์ล้างมือติดตัวเพื่อความสะดวกเวลาไปสถานที่ต่างๆ และให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลหากต้องไปในสถานที่ที่มีการรวมคนจำนวนมาก นอกจากนี้ขอความร่วมมือประชาชนหากช่วงเวลากลางคืนไม่มีความจำเป็นต้องออกไปไหนให้งดเว้นหรือลดการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้อีกทาง