ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,681 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,282 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 110 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 12 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 277 ราย โดยมี 10 อันดับมาจาก รัสเซีย 35 ราย สหราชอาณาจักร 27 ราย คาซัคสถาน 23 ราย สหรัฐอเมริกา 20 ราย เยอรมนี 17 ราย ฝรั่งเศส 16 ราย สวีเดน 14 ราย อินเดีย 12 ราย อิสราเอล 10 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 9 ราย เป็นต้น
ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 2,048 ราย
- เสียชีวิต 19 ราย เพศชาย 10 ราย หญิง 9 ราย อายุเฉลี่ย 68 ปี (19-92 ปี) แยกเป็น ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 12 ราย คิดเป็น 63% อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 5 ราย คิดเป็น 26% และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย คิดเป็น 11%
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 2,292,290 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 3,350 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 21,869 ราย
พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่จากทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ส่วนแนวโน้มผู้ติดเชื้อในประเทศไทยทรงตัว และเหมือนจะลดลงอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นผลจากการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่วนผู้เสียชีวิตในไทยในช่วงนี้ ถือว่าน้อยกว่าช่วงเดือนเม.ย.64 เป็นผลจากการได้รับวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น และในขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์โอมิครอน
"โควิดเริ่มมีทิศทางเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับโรคได้ แต่จะไม่เหมือนโรคประจำถิ่นอื่นๆ คือ เราต้องอยู่แบบวิถีใหม่" พญ.สุมณี กล่าว
สำหรับจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 892 ราย, ชลบุรี 873 ราย, สมุทรปราการ 523 ราย, ภูเก็ต 488 ราย, ขอนแก่น 277 ราย, อุบลราชธานี 269 ราย, นนทบุรี 251 ราย, เชียงใหม่ 194 ราย, ศรีสะเกษ 167 ราย และ บุรีรัมย์ 166 ราย
พญ.สุมณี กล่าวว่า ในจังหวัด 10 อันดับ ที่ประชุมมีความเป็นห่วงในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น คือ นนทบุรี และปทุมธานี ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับขอเน้นย้ำจังหวัดนำร่องเที่ยวอื่นๆ แม้จะมีการเปิดกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่ต้องปฏิบัติให้อยู่ภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุข
สำหรับคลัสเตอร์ต่างๆ ที่ยังพบการระบาด เช่น พบในร้านอาหารกึ่งผับมากสุด โดยพบใน 8 จังหวัด มากสุดที่อุบลราชธานี 26 ราย รองลงมา น่าน 22 ราย, พบในงานสังสรรค์ปีใหม่ ใน 2 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี 9 ราย หนองบัวลำภู 6 ราย, พบในโรงงาน ที่นครพนม 18 ราย, พบในงานบุญ ที่อุบลราชธานี 3 ราย, พบในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร, พบในสถานศึกษาใน 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี 6 ราย กรุงเทพมหานคร 5 ราย นนทบุรี 2 ราย
พญ.สุมณี กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนให้กับเด็ก อายุ 5-11 ปี ว่า จะมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็ก อายุ 5-11 ปี ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะสำหรับเด็ก ซึ่งแตกต่างกับวัคซีนที่ฉีดให้กับผู้ใหญ่ โดยวัคซีนจะทยอยเข้ามาในช่วงปลายเดือนม.ค.นี้ หรือภายในเดือนก.พ. ซึ่งวัคซีนสำหรับเด็กเป็นที่ต้องการของทั่วโลก และไทยถือเป็นประเทศอันดับ 2 ในเอเชียที่ได้วัคซีนสำหรับเด็ก
ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองบางส่วนอยากจะรอวัคซีนเชื้อตายนั้น พญ.สุมณี ชี้แจงว่า สำหรับวัคซีนเชื้อตายทั้งซิโนแวคและชิโนฟาร์ม ทางคณะกรรมการอนุกรรมการอาหารและยา กำลังเร่งขึ้นทะเบียนวัคซีนเชื้อตายอยู่ เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว ผู้ปกครองสามารถเลือกสูตรในการฉีดวัคซีนได้
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 314,090,366 ราย เสียชีวิต 5,521,031 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา 63,390,876 ราย อันดับ 2 อินเดีย 36,060,902 ราย อันดับ 3 บราซิล 22,630,142 ราย อันดับ 4 สหราชอาณาจักร 14,732,594 ราย และอันดับ 5 ฝรั่งเศส 12,573,263 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 25