นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวในโซเชียลมีเดียเป็นภาพแชตประกาศตามหาเด็กเอนฯ ที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยคาดว่าลูกค้าต้องการติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเบิกประกัน "เจอ-จ่าย-จบ" นั้น เป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสียในการนำร่างกายเข้าไปเสี่ยงได้รับเชื้อ เพราะการติดเชื้อโควิด-19 มีอาการรุนแรงได้หลายระดับ ตั้งแต่อาการทั่วไป ได้แก่ อาการระบบทางเดินหายใจ มีไข้ ไอ หายใจถี่ หายใจลำบาก แต่ในรายที่อาการรุนแรงมาก อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ ไตวาย รุนแรงได้ถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
นอกจากนี้ ในบางรายผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดี ไม่มีเชื้อไวรัสในร่างกายแล้ว แต่อาจมีอาการหลงเหลืออยู่ เรียกว่า ภาวะ Long COVID หรืออาการหลงเหลือของเชื้อโควิด-19 ระยะยาว ซึ่งเกิดขึ้นได้ในช่วง 1-3 เดือนแรก ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่อาการรุนแรง อาจส่งผลต่อเนื่องยาวนาน 3-6 เดือนกว่าที่ร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ เพราะมีปัจจัยเรื่องความเครียดสะสมมาตั้งแต่ช่วงที่ป่วย
ทั้งนี้ จะมีอาการที่แสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ สำหรับอาการทางกาย เช่น ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้า ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ ท้องเสีย อันเนื่องมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ส่วนอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาอย่างต่อเนื่อง
"ขอย้ำอีกครั้ง เรื่องมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล 70% เว้นระยะห่าง และไม่ไปสถานที่เสี่ยง" นพ.โอภาส กล่าว