นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในขณะนี้ โดยเฉพาะในหมวดอาหารสดหลายประเภทที่มีการทยอยปรับราคาสูงขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงกลาโหม มีความห่วงกังวล และได้เร่งให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน เร่งติดตาม หารือกับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เพื่อตรึงราคาสินค้าในการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วนนั้น หลายหน่วยงานได้เร่งดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือกับบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตรา "มาม่า" เพื่อไม่ให้มีการปรับขึ้นราคามาม่าซองประเภทที่เป็นสินค้ามวลชน และเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในท้องตลาดทั้งประเทศ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน
ขณะที่กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ต่ออีก 2 เดือนที่ราคา 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2565 เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2565
พร้อมทั้งขอความร่วมมือ บมจ.ปตท. (PTT) พิจารณาช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ ปตท. ดำเนินการต่อไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 อีกทั้งให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการ "เอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน" ให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2565
"สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากกลไกราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ต้นทุนสินค้า และค่าขนส่ง ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งวางมาตรการทั้งระยะสั้น-ยาว เร่งติดตามหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในเบื้องต้น จะเป็นการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการและภาคเอกชน เพื่อให้ตรึงราคาสินค้าบางส่วนที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพ" นายธนกร กล่าว