นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขตั้งโต๊ะแถลงความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ในการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมตลอดเวลาในทุกมิติ
"ทุกอย่างเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือโควิด-19 ไม่ได้ประมาทหรือลดหย่อนการทำงาน แม้ว่าสถานการณ์ดีขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา แม้จะเก้อ..ถ้าไม่ต้องใช้ก็เป็นสิ่งที่ดี" นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน ระบุว่า ขณะนี้ผู้ป่วยอาการหนักไม่เพิ่มมากขึ้น และผู้เสียชีวิตอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลมีความพร้อมในการสนับสนุนข้อเสนอจากคณะแพทย์อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างดีที่สุด อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น สธ. จะเร่งขอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการ ในขณะเดียวกันหากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น ก็พร้อมจะเร่งดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
"ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายให้ สธ. เตรียมพร้อมตลอดเวลาในทุกมิติ เราต่อสู้กับโควิดมาเป็นปีที่ 2 แล้ว ทุกประสบการณ์จะนำมาปรับปรุงแก้ไข อำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชน รวมทั้งลดภาระต่างๆ ให้ได้มากที่สุด" นายอนุทิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า มีหลายรายยังไม่ได้รับวัคซีน จึงจะให้นโยบายว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไม่ต้องทำการจอง สามารถวอลค์อินไปสถานพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนได้เลย เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเกิดจากเข้าไม่ถึงวัคซีนเป็นส่วนใหญ่
ส่วนผู้ที่ปฎิเสธการฉีดวัคซีน ยืนยันว่าวัคซีนทุกชนิดที่จัดหามาให้มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ในส่วนของเด็ก 5-12 ปี ขอให้ผู้ปกครองพามาฉีดวัคซีน โดยภายในต้นเดือนก.พ. 65 ไทยจะนำเข้าวัคซีนสำหรับเด็ก และเริ่มฉีดในเด็กได้ ซึ่งทางบริษัทไฟเซอร์ได้ยืนยันแล้วว่าสามารถฉีดในเด็กได้ และยืนยันว่ามีเพียงพอสำหรับเด็กๆ ทุกคน ส่วนคุณครูจะเร่งฉีดเข็มบูสเตอร์ทั้งเข็ม 3-4 เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อในโรงเรียน
นอกจากนี้ องค์การอาหารและยา (อย.) จะเร่งพิจารณาวัคซีนซิโนแวค ซึ่งขณะนี้ได้รับการยื่นขอเพิ่มการจดทะเบียนวัคซีนซิโนแวคสำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปแล้ว ทั้งนี้ หากเอกสารเรียบร้อย มีข้อมูลที่เพียงพอ และได้รับการยอมรับ ก็พร้อมที่จะสั่งซื้อเข้ามาในไทย
สำหรับเรื่องเวชภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็ได้มีการสำรองยาไว้เพียงพอต่อผู้ป่วยทุกราย และจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อสำรองไว้เพื่อผลิตเป็นสารตั้งต้นยาฟาวิพิราเวียร์ นอกจากนี้ อภ. จะมีการเสนอตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาร่วมกับสถาบันวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการวิจัยผลิตสารตั้งต้นของยาโมลนูพิราเวียร์ เพื่อสำรองเหตุการณ์ในอนาคต ด้านกรมการแพทย์ก็ได้สำรองยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิดไว้แล้ว เพื่อการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
นอกจากนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมให้การดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จำเป็น จึงขอให้ประชาชนวางใจ ส่วน รพ.สนามก็พร้อมจัดตั้งขึ้นได้ตลอดเวลาหากมีความจำเป็น แต่ขณะนี้จะเน้นการใช้ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) แทน
ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์หลังช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาแล้ว 14 วัน พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปี แต่ขณะนี้เริ่มทรงตัว และมีแนวโน้มลดลง โดยจากฉากทัศน์ที่เคยคาดการณ์ไว้ จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสูงสุด แต่ขณะนี้เริ่มลดลงอยู่ในระดับปานกลาง ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิต อยู่ในระดับต่ำกว่าสถานการณ์ที่คาดไว้มาก ทั้งนี้ เกิดจากการที่รัฐออกมาตรการเพิ่มเติม และได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากขึ้น ประกอบกับมาตรการการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม และโรคโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงลดลง
"ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา สามารถดำเนินการตามแผนชะลอการระบาดได้ดี โดยปัจจุบันยังไม่พบการกลายพันธุ์ ส่วนกรณีที่ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ขาดแคลนในตลาด แปลว่าประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก ซึ่งทาง อภ. จะมีการจำหน่ายสัปดาห์ละ 1 ล้านชุด" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้วัคซีนมีเพียงพอ โดยในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนทั้งหมด 90 ล้านโดส โดยมีวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 30 ล้านโดส ดังนั้น มีเพียงพอสำหรับการฉีดบูสเตอร์แน่นอน ส่วนลำดับการฉีดวัคซีนจะเรียงจากวัคซีนชนิดเชื้อตายก่อน ต่อด้วยไวรัลเวกเตอร์ และ mRNA
พร้อมย้ำว่า การฉีดวัคซีนทุกประเภท ทุกสูตร มีประสิทธิผลสูงมาก (90-100%) ในการป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต ส่วนการฉีดวัคชีนครบ 2 เข็มประเภทเดียวกัน มีประสิทธิผลสูงพอสมควร ในการป้องกันการติดเชื้อ โดยประสิทธิผลจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปหลังฉีดวัคซีน
ในส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นทั้งสูตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ บ่งชี้ว่ายังมีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้สูง (80-90%) จากเหตุการณ์การระบาดที่จังหวัดกาฬสินธุ์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์เตียงว่า ขณะนี้ยังมีเพียงพอ โดยวันที่ 13 ม.ค. 65 เตียงทั้งประเทศอยู่ที่ 46,873 เตียง เนื่องจากโรคโควิดสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย จึงเน้นการรักษาในระบบ HI และ CI เป็นหลัก โดยขณะนี้กำลังปรับเปลี่ยนวิธีการสำหรับผู้ที่ตรวจ ATK ซึ่งจะมีการแบ่งเป็นความเสี่ยงสูง และเสี่ยงต่ำเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือสถานบริการสุขภาพ เน้น "HI & CI first" เตรียมความพร้อมสำหรับการจัด HI และ CI ติดต่อกลับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง ภายหลังได้รับแจ้งจาก 1330 และประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์แนะนำการปฏิบัติตัวที่บ้านให้กับผู้ติดเชื้อ ติดตามและประเมินอาการผู้ติดเชื้อในระบบ HI และ CI อย่างน้อยวันละครั้ง และจัดระบบนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล (กรณีฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรง) รวมทั้งร่วมกันรับผู้ป่วยเด็กเข้ารับการรักษา
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงรพ.สนาม Hospitelว่า ขณะนี้ที่สามารถเปิดดำเนินการได้ทั้งหมด 145 แห่ง รวม 30,240 เตียง ซึ่งยังมีเพียงพอรองรับผู้ป่วยทุกราย ในขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างการนำเรื่องการปรับอัตราราคาโควิด-19 ฉบับที่ 7 เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการลดค่าตรวจ RT-PCR 2 ยีนส์ จาก 2,250 บาท เหลือ 1,300 บาท และ 3 ยีนส์ จาก 2,550 บาท เหลือ 1,500 บาท นอกจากนี้ จะลดค่าห้องและค่าอาหารใน hospital จาก 1,500 บาท เหลือเหมาจ่าย 1,000 บาท (ห้องพักพร้อมอาหาร 3 มื้อ)
"เรื่องประกัน ขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งได้รับทราบถึงปัญหาเรื่องระบบประกันสุขภาพเป็นอย่างดี อย่างเรื่องการตรวจ ATK ซึ่งรองเลขาฯ คปภ. จะมีการหารือกับบริษัทประกันภัย เรื่องกรมธรรม์ประกันภัย และจะมีการแจ้งให้ทราบหากมีความคืบหน้าในภายหลัง" ทพ.อาคม กล่าว