น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ เร่งศึกษาและหาแนวทางในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยและรายเล็ก โดยเตรียมสูตรอาหารสุกรลดต้นทุนสำหรับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยและรายเล็กที่มีความพร้อมในการนำสุกรเข้าเลี้ยงในการเลี้ยงที่มีการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ภายหลังจากผ่านการตรวจประเมินความเสี่ยงโรค African Swine Fever หรือ ASF ในสุกร (อหิวาต์แอฟริกาในสุกร) ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ เน้นย้ำการเลี้ยงสุกรในระบบฟาร์มที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพทุกขนาดฟาร์มทั้งรายย่อย (จำนวนสุกรน้อยกว่า 50 ตัว) รายเล็ก (จำนวนสุกร 50-500 ตัว) รายกลาง (จำนวนสุกร 500-5,000 ตัว) และรายใหญ่ (จำนวนสุกรตั้งแต่ 5,000 ตัวขึ้นไป) เพื่อเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคและสามารถลดความเสียหายได้
การเลี้ยงสุกรของเกษตรกรที่ต้องซื้อลูกสุกรมาเลี้ยง มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยในปี 2564 กิโลกรัมละ 78.40 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 14%จากปี 63 โดยการเลี้ยงสุกรตั้งแต่ลูกสุกรจนกระทั่งเป็นสุกรขุนได้น้ำหนักตามที่ตลาดต้องการ มีต้นทุนค่าอาหารสัตว์รวมกันประมาณ 70% ที่ผ่านมาต้นทุนค่าอาหารสัตว์ในช่วงสุกรขุนปรับเพิ่มขึ้น 8% และต้นทุนค่าพันธุ์สุกรปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20% เนื่องจากปัจจัยด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็นรายเดือน เฉลี่ยแล้วราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น 12% ราคากากถั่วเหลืองปรับเพิ่มขึ้น 30% การนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เนื่องจากประเทศไทยมีการผลิตปศุสัตว์ที่ขยายตัว วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ผลิตได้ภายในประเทศไม่เพียงพอจึงต้องนำเข้าทุกปี โดยการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เสียภาษีในอัตราแตกต่างกันขึ้นกับแหล่งนำเข้าว่ามีข้อตกลงการค้าร่วมกันหรือไม่ หากเป็นการนำเข้าจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) กากถั่วเหลือง เสียภาษีนำเข้า 2% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เสียภาษีนำเข้าในโควตา 20% นอกโควตา 73% และค่าธรรมเนียมพิเศษตันละ 180 กรมศุลกากรรายงานปริมาณนำเข้าปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) ปริมาณนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็น 2.64 ล้านตัน โดยนำเข้าจากประเทศบราซิล 90% ซึ่งต้องเสียภาษีนำเข้า 2% ส่วนการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็น 1.83 ล้านตัน นำเข้าจากประเทศเมียนมา 98% ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแต่ต้องนำเข้าในช่วงเดือน ก.พ.-ส.ค. โดยการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์อยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายอาหาร ซึ่งประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนสมาคมการค้าพืชไร่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ เป็นคณะกรรมการร่วมด้วย โดยจะมีการกำหนดทบทวนนโยบายและมาตรการในการนำเข้าคราวละ 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องตามสถานการณ์
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์พร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกขนาดการเลี้ยง ทั้งรายย่อย รายเล็ก รายกลางและรายใหญ่ สามารถนำสุกรเข้าเลี้ยงในฟาร์มได้ โดยต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงระดับฟาร์ม ปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบการเลี้ยงที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งสามารถป้องกันโรค ASF ในสุกรและโรคระบาดอื่นๆ ในสุกรได้อีกด้วย ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อป้องกันความเสี่ยงและความเสียหายจากโรคระบาดในสุกร เนื่องจากปัจจุบันโรค ASF ในสุกรยังไม่มีวัคซีนและการใช้ยารักษาที่จำเพาะ สิ่งที่สำคัญในการลดความเสียหายและป้องกันโรคเข้าฟาร์มได้คือ ต้องมีระบบการป้องกันภายในฟาร์มสุกรที่ดี เช่น ไม่นำเศษอาหารมาเลี้ยงสุกร การอาบน้ำเปลี่ยนชุดเข้าฟาร์มของพนักงาน การพ่นยาฆ่าเชื้อรถขนส่ง การล้างพ่นยาฆ่าเชื้อโรงเรือน การป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะ ยาฆ่าเชื้อที่สามารถฆ่าเชื้อ ASF ในสุกรได้นั้น ตามอัตราส่วนที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำหรือโดยทั่วไปจะใช้ที่ 1:200 เช่น Glutaraldehyde, Phenol, Iodine, Chlorine เป็นต้น
สำหรับวัคซีนซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถป้องกันโรค ASF ในสุกรได้นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยร่วมกันกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอย้ำว่าไม่สามารถกันการติดเชื้อหรือทำให้ตรวจไม่พบเชื้อ ASF ในสุกรได้ตามที่มีการนำเสนอตามสื่อออนไลน์ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคคือการเลี้ยงในระบบที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีมาตรการสนับสนุนอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก ในการกลับมาสู่อุตสาหกรรมการผลิตสุกรรอบใหม่ภายใต้การผลิตในระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่เหมาะสม