มูลนิธิทีเอชนิค เผยจำนวนชื่อโดเมน ".ไทย" (ดอท ไทย) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มียอดโดเมนทั้งสิ้น 30,311ชื่อ ซึ่งเป็นผลตอบรับที่ดีสำหรับชื่อโดเมนหรือชื่อเว็บไซต์ ".ไทย" จากการฉลองครบรอบสิบปีในปี 2564 ที่ผ่านมา
ดร.เพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) เปิดเผยว่า ในโอกาสฉลองครบรอบสิบปีชื่อโดเมน ".ไทย" ทีเอชนิคได้จัดกิจกรรมส่งเสริมเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการจดชื่อโดเมน ".ไทย" ฟรี ตลอดทั้งปี ซึ่งได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้ชื่อ โดเมน ".ไทย" ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้นถึง 30,311 ชื่อ เพิ่มขึ้นกว่า 68 % เทียบกับปีก่อนหน้า
ดร.เพ็ญศรี กล่าวต่อไปว่า ในปี 2565 นี้ มูลนิธิฯ ยังคงเปิดให้ผู้ที่ถือครองชื่อโดเมน ".th" ทุกหมวดหมู่ไว้แล้ว สามารถขอจดชื่อโดเมน ".ไทย" เพิ่มได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และผู้ที่จด .th ใหม่สามารถจด ".ไทย" ได้ฟรีเช่นกัน สำหรับผู้ที่สนใจจดชื่อโดเมน ".ไทย" เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงเว็บไซต์ได้มากกว่าและจดจำชื่อเว็บไซต์ได้ง่ายกว่า สามารถติดต่อผู้รับจดทะเบียนได้ที่ โทร. 0 2105 4007 อีเมล บริการลูกค้า@ทีเอชนิค.ไทย, support@thnic.co.th และ เว็บไซต์: ทีเอชนิค.ไทย, thnic.co.th นอกจากนี้ยังสามารถขอเปิดใช้งานอีเมลภาษาไทยส่วนบุคคลฟรีที่เว็บไซต์ คน.ไทย
ทั้งนี้ มูลนิธิทีเอชนิค ได้เปิดแพลตฟอร์ม ?สมุดเยี่ยม.ไทย? ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้งานโดเมนภาษาไทย รวมถึงการเปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปใช้อีเมลภาษาไทย @คน.ไทย ได้ฟรี โดยอีเมลที่ได้รับสามารถนำไปใช้เป็นตัวตนดิจิทัล หรือ Digital ID ในการใช้บริการอื่น ได้ด้วย เช่น วีคลาส.ไทย
ในปีเดียวกันมูลนิธิทีเอชนิคยังได้สนับสนุนการศึกษาเรื่องการรับรู้และยอมรับการใช้ชื่อโดเมนภาษาไทยของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พิมลพรรณ ไชยนันท์ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัย (ข้อมูลจาก https://www.thnic.or.th/wp-content/uploads/2021/12/thnic64-pimonpan-th-executive-summary.pdf) พบว่ามีประเด็นน่าสนใจหลายประเด็น เช่น ปัจจัยที่ส่งผลให้ใช้โดเมนไทยคือการสืบค้นง่ายด้วยภาษาไทย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างในภูมิภาคและกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีเจตนาในการใช้โดเมนภาษาไทยมากกว่ากลุ่มตัวอย่างอื่น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของมูลนิธิ ในการส่งเสริมการใช้ชื่อโดเมนภาษาไทยเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล
โดยกลุ่มตัวอย่างรู้จักโดเมนภาษาไทยจากหลายช่องทาง เช่น จากการสืบค้น จากคำแนะนำจากผู้รับทำเว็บไซต์ จากเพื่อนที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกัน และจากการใช้บริการภาครัฐ อย่างไรก็ตามประสบการณ์การใช้งานพบว่า ผู้ประกอบการที่ใช้โดเมนภาษาไทยและอีเมลภาษาไทยส่วนใหญ่พึงพอใจค่อนข้างมาก แม้ว่ายังพบข้อจำกัดทางเทคนิคบางประการ และยังต้องการใช้งานต่อไป เพราะสะดวกในการติดต่อกับลูกค้า นอกจากนี้ภาษาไทยง่ายต่อการสืบค้น รวมถึงยังสามารถใช้งานเว็บไซต์และอีเมลควบคู่กันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อสะดวกในการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศและลดปัญหาทางเทคนิคได้อีกด้วย