นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิต อ้อยโรงงานของประเทศ ฤดูกาลผลิตปี 2564/65 (ข้อมูล ณ ธ.ค. 64) คาดว่าจะมีเนื้อที่เพาะปลูก 9.90 ล้านไร่ ผลผลิต 77.75 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 7.85 ตัน เพิ่มขึ้น จากปี 2563/64 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.28 ล้านไร่ ผลผลิต 66.95 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 7.21 ตัน คิดเป็น 6.68% 16.13% และ 8.88% ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูกจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการประกันราคารับซื้ออ้อยให้แก่ชาวไร่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเพาะปลูก
จากการลงพื้นที่ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อช่วงเดือนธ.ค. 64 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าอ้อยโรงงาน ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ซึ่งมีพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยมากเป็นอันดับที่ 1-3 ของภาคเหนือ ตามลำดับ พบว่า ฤดูการผลิตปี 2564/65 ทั้ง 3 จังหวัด มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 1.95 ล้านไร่ คิดเป็น 19.70% ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ได้ผลผลิตรวม 7.40 ล้านตัน คิดเป็น 9.52% ของผลผลิตทั้งประเทศ
ทั้งนี้ หากจำแนกเป็นรายจังหวัด พบว่า กำแพงเพชร มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.75 ล้านไร่ ผลผลิต 3.38 ล้านตัน เพชรบูรณ์ มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.50 ล้านไร่ ผลผลผลิต 1.50 ล้านตัน และนครสวรรค์ มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.70 ล้านไร่ ผลผลิต 2.52 ล้านตัน สำหรับพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก คือ พันธุ์ขอนแก่น 3 เนื่องจากเป็นพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพ ให้ผลผลิตประมาณ 18-20 ตันต่อไร่ อีกทั้งยังทนแล้ง ลำใหญ่ แตกกอดี และให้ค่าความหวาน 11-13 ซี.ซี.เอส.
ขณะที่ราคาอ้อยโรงงาน พบว่า โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยตามราคาอ้อยขั้นต้นที่ 1,070 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. โดยผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2564/65 มีน้อยกว่าความต้องการของโรงงานน้ำตาล ทำให้เกิดการแย่งซื้ออ้อยในบางพื้นที่ จึงนับว่าส่งผลดีต่อเกษตรกรที่สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าปี 2563/64 (ฤดูการผลิตปี 2563/64 มติรัฐมนตรีกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่ 920 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.)
ทั้งนี้ อ้อยที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วจะถูกขนไปขายที่โรงงานและลานรับซื้อ ซึ่งโรงงานจะให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ และจะจ่ายเงินเพิ่มให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสด สะอาด และมีคุณภาพ ในส่วนของลานรับซื้อจะให้ราคาอ้อยสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมา (เดือนพ.ค.-ก.ค. 64) พื้นที่ปลูกอ้อยทั้ง 3 จังหวัด ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง และยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ในเดือนก.ย. 64 ประกอบกับพบปัญหา "หนอนกออ้อย" หรือหนอนเจาะหน่ออ้อย หรือหนอนเจาะลำต้นอ้อย ซึ่งระบาดเข้าทำลาย ลำต้น ทำให้อ้อย ยอดเหี่ยวและแห้งตาย โดยทางสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ ได้มีการเพาะขยายพันธุ์แมลงหางหนีบและแจกจ่ายแก่เกษตรกร เพื่อใช้เป็นศัตรูธรรมชาติในการกำจัด และควบคุมหนอนกออ้อยให้แก่เกษตรกร
ด้านนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า สำหรับการดำเนินงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการความปลอดภัยในการขนส่งสินค้า โรงงานน้ำตาลได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Bubble and Seal) ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย โดยกำหนดให้คนขับรถบรรทุกอ้อยต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม และส่งผลการตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ก่อนนำอ้อยเข้าโรงงาน
นอกจากนี้ รถบรรทุกอ้อยทุกคันจะติดธงแดงขนาดใหญ่ท้ายรถซึ่งมีข้อความว่า "รถช้าบรรทุกอ้อย" และ "รถพ่วงบรรทุกอ้อย" ซึ่งเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล และมีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณถนน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในภาพรวมการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานฤดูการผลิตปี 2564/65 มีความเรียบร้อย ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน
ทั้งนี้ ในปีการผลิต 2564/65 ราคาอ้อยโรงงานสูงกว่าปีการผลิตที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ มีความพึงพอใจกับราคาที่ได้รับ อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ของ สศก. พบว่า ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช และยาปราบศัตรูพืช มีการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรที่จะลงทุนปลูกอ้อยใหม่ในฤดูการผลิตนี้ มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามไปด้วย