พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพทหานคร (กทม.) ได้ลงนามในประกาศฯ สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 50 ตามประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 42 ลงวันที่ 21 ม.ค.65 เพื่อปรับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเฉพาะเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนที่สามารถแพร่ได้เร็วและมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งขณะนี้ตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.65 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 ม.ค.65 ดังต่อไปนี้
1.การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม จะเปิดให้บริการได้เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (AmazingThailand Safety and Health Administration) ในระดับ SHA PLUS (SHA+) ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หรือตามมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรคโควิด-19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus: TSC2+) ของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยแล้วเท่านั้น และให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น.
2.สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะที่ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขแล้ว และประสงค์จะปรับรูปแบบของสถานที่ดังกล่าวเพื่อการให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้ขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการจัดการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่กำหนด ก่อนเปิดให้บริการได้ภายใต้การกำกับติดตามของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด ส่วนการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการในรูปแบบเป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มเช่นเดียวกัน
3.กรณีนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ เจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ผู้ร่วมกิจกรรม และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ยังคงต้องดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 8 ม.ค.65
หากมีผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้วแต่กรณี และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหาย