พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม พร้อมคณะ ซึ่งประกอบด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ออกเดินทางไปยังกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี
โดยมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือข้อราชการ ณ สำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย (Royal Court) พระราชวังอัล ยะมามะฮ์ (Al Yamamah Palace)
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการหารือโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันความตั้งใจร่วมกันในการสะสางประเด็นที่คั่งค้างทั้งหมด ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย และปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรให้เป็นปกติ รวมทั้งยังได้ย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรของสองราชอาณาจักร และการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับความสัมพันธ์ฉันมิตรกับซาอุดีอาระเบีย และแสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533 ยืนยันว่า ไทยได้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่าง ๆ และหากมีหลักฐานใหม่ก็พร้อมที่จะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อดูแลความปลอดภัยของคนชาติของกันและกันในแต่ละประเทศ
ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาค และระหว่างประเทศต่าง ๆ และได้หารือถึงแนวทางในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกสาขา และยังเห็นพ้องที่จะเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ และการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของแต่ละฝ่าย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองราชอาณาจักร
นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องกับขั้นตอนสำคัญต่าง ๆ ที่จะดำเนินการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำเมืองหลวงของทั้งสองประเทศในอนาคตอันใกล้ และการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี การติดต่อประสานงานอย่างเต็มที่จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงหลายเดือนหน้า เพื่อหารือความร่วมมือทวิภาคีในสาขายุทธศาสตร์ที่สำคัญ
ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางในการส่งเสริมและเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองราชอาณาจักร โดยการแสวงหาโอกาสในด้านการลงทุนและอื่น ๆ ในบริบทของวิสัยทัศน์ ค.ศ 2030 ของซาอุดีอาระเบีย และวาระการพัฒนาแห่งชาติของไทยอย่างนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy) และเห็นพ้องที่จะแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ อาทิ พลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนา และความมั่นคงทางไซเบอร์
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับความสัมพันธ์ที่กำลังเดิบโตระหว่างทั้งสองราชอาณาจักร รวมทั้งการส่งเสริมการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างศาสนาและพหุวัฒนธรรม
ไทยและซาอุดีอาระเบียเห็นพ้องที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันในองค์การและเวทีระหว่างประเทศ และเนันย้ำความสำคัญของการยึดมั่นของทุกประเทศต่อกฏบัตรสหประชาชาติ บรรทัดฐานระหว่างประเทศ รวมถึงหลักการการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี การเคารพในบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย การไม่แทรกแซงกิจการภายใน และการระงับข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี
หลังจากนั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้หารือทวิภาคีกับ Ahmad Sulaiman ALRajhi รมว.ทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทางสังคม ซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี
โดยการเยือนฯ ครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวไทยที่ประสงค์กลับเข้ามาทำงานในซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง ทั้งนี้ ไทยมีแรงงานศักยภาพที่มีฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของซาอุดีอาระเบีย และกระทรวงแรงงาน ยังมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถฝึกอาชีพ และประสบการณ์ให้ตรงกับแรงงานในสาขาที่ซาอุดีอาระเบียต้องการ รวมทั้งมีบริษัทจัดหางานที่มีความน่าเชื่อถือ จดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานภายใต้การควบคุมของกระทรวงแรงงาน
รมว.ทรัพยากรมนุษย์ซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้ทรงมีบัญชาให้กระทรวงฯ ดำเนินการจัดการหาแรงงานดีมีฝีมือ โดยตั้งเป้าให้ได้ 8 ล้านคน ซึ่งไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และซาอุดีอาระเบียประสงค์ผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ยังกล่าวถึงมาตรการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติในซาอุดีอาระเบีย โดยซาอุดีอาระเบียมี E-Contract Program ซึ่งเป็นการทำสัญญาจ้างอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งรักษาสิทธิของลูกจ้าง และลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง รวมถึงมีข้อริเริ่ม Labor Mobility Initiative ให้แรงงานเคลื่อนย้ายได้อิสระ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น สร้างประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข็งขันในตลาดแรงงาน
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องให้เร่งรัดความร่วมมือในอนาคต หากเร่งรัดความร่วมมือได้โดยเร็วจะสร้างผลประโยชน์อย่างมากต่อทั้งสองประเทศ ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาของซาอุดีอาระเบียยังคงต้องการการสนับสนุนจากต่างชาติ ทั้งในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว และด้านแรงงานจำนวนมาก เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ และแรงงานฝีมือ และกึ่งฝีมือของไทยได้เข้ามามีส่วนร่วม