น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้เปิดเผยระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบหลักการเกี่ยวกับการเตรียมการเพื่อพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และการจัดตั้งคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่เพื่ออำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน รวมถึงการการสร้างภูมิคุ้มกันโรคอื่น ๆ เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ
ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ คงที่เฉลี่ยวันละ 7,000-9,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา ทำให้มีผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตลดลง ซึ่งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ยังสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ดี
โดยที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติวันนี้ได้หารือแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยมีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่า 0.1% การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่า 10% และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่า 80% เป็นต้น ซึ่งหากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
สำหรับแนวทางการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขในระยะต่อไปจะดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ปรับปรุงมาตรการเพื่อให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตและประกอบอาชีพได้ ซึ่งเชื่อว่าประชาชนเฝ้ารออยู่ เห็นได้จากที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้เปิดลงทะเบียนการเข้าประเทศแบบ Test&Go อีกครั้ง และเข้าใจว่าการประกอบธุรกิจในระยะต่อไปจะต้องเป็นไปแบบ New Normal
ส่วนความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถกระจายวัคซีนรวมแล้วประมาณ 114 ล้านโดส ครอบคลุมประชาชนได้ตามเป้าหมาย โดยมีผู้ได้รับได้รับวัคซีนเข็มที่ 1-2 มากกว่า 70% ของจำนวนประชากร โดยเฉพาะใน กทม.ถือว่าเกิน 100% แล้ว เนื่องจากมีประชากรแฝงใน กทม.ที่ได้รับวัคซีนด้วย
ขณะที่ผู้ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ยังอยู่ที่ 20% เนื่องจากต้องรอให้ครบรอบการได้รับวัคซีนก่อน แม้ส่วนใหญ่จะยังได้เข็ม 2 แต่ภูมิคุ้มกันก็อยู่ระดับสูงเนื่องจากเป็นการได้รับวัคซีนสูตรไขว้ ซึ่งขณะนี้สูตรการฉีดวัคซีนแบบไขว้ของประเทศไทยก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยมีการรับรองในวารสารทางการแพทย์ระหว่างประเทศหลายแห่ง ส่วนของบุคลาการทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้าที่ต้องสัมผัสคนจำนวนมากขณะนี้ก็ได้รับวัคซีนเข็ม 4 ไปครบ 100% แล้ว
นายอนุทิน กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมวัคซีนโควิด-19 สำหรับเข็มกระตุ้นที่เพียงพอสำหรับประชาชน ทั้งในส่วนของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนไฟเซอร์ก็มีการสั่งเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี 3 แสนโดสแรกตอนนี้ก็ได้มาถึงประเทศไทยแล้ว โดยผู้ผลิตจะทยอยส่งสัปดาห์ละ 3 แสนโดสไปจนกว่าจะครบตามคำสั่งซื้อ ซึ่งจะได้กระจายไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยเริ่มจากเด็กกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มก่อน และขยายไปยังเด็กในโรงเรียน ในส่วนนี้จะต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการสนับสนุนการกระจายวัคซีนไปถึงเด็กกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด
วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กได้รับอนุมัติจาก อย.ให้ฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปีได้ ส่วนวัคซีนซิโนแวคอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียน โดยในปีนี้รัฐบาลมีแผนการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็ก (Pediatric vaccine) รวม 10 ล้านโดส