น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินรวม 209,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 10,152 ล้านบาท ประกอบด้วย งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 207,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวงเงินที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 8,202 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.12% โดยเพิ่มขึ้นจากปัจจัยเงินเฟ้อด้านต้นทุนบริการ ปริมาณบริการที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มปกติ การเพิ่มการเข้าถึงบริการรูปแบบใหม่ และเพื่อตอบสนองนโยบายยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และแนวทางปฏิรูปห้องฉุกเฉิน และงบประมาณบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 665 ล้านบาท คิดเป็น 51.82%
สำหรับโครงสร้างงบประมาณของกองทุนฯในปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย รายการบริการหลัก 10 รายการ โดยมีการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การยุบรวมรายการค่าบริการสาธารณสุขสำหรับบริการกรณีโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นรายการที่เพิ่มขึ้นใหม่ในปีงบประมาณ 2565 เข้ากับ 1.รายการค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 2.รายการค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้แก่ ค่าบริการตรวจคัดกรองการติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และวิธี Antigen Test Kit (ATK) และค่าบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 และ 3.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 เนื่องจากคาดการณ์ว่าโรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงรายการย่อยที่ใช้คำนวณอัตราค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว โดยได้ย้ายรายการย่อยที่ 7 บริการจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการที่เพิ่มขึ้น ไปรวมในงบบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง(โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง) คงเหลือรายการย่อย 6 รายการ ได้แก่ บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป, บริการผู้ป่วยในทั่วไป, บริการกรณีเฉพาะ, บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์,บริการแพทย์แผนไทย และค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน
นอกจากนี้ข้อเสนองบกองทุนฯที่ขอรับจัดสรรในปีงบประมาณ 2566 ยังได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ปรับความชัดเจนของขอบเขตและการเข้าถึงบริการที่ยังเข้าถึงบริการได้น้อยรวม 26 รายการ รวมถึงขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพและการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน เช่น การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการขยายการให้บริการต่อเนื่องจากปี 2565 โดยให้ผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับบริการกับแพทย์ประจำครอบครัวที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ โดยในปี 2566 จะมีการขยายการดำเนินงานไปทั่วประเทศ โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม