นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และอดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ กรณีที่ปรับเพิ่มค่าตอบแทนการปฏิบัติให้กับตัวเองโดยมิชอบ
ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล และเอาผิดทางวินัยกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
โฆษก ป.ป.ช.กล่าวว่า ตามที่มีการกล่าวหานายกระมล ทองธรรมชาติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการรัฐธรรมนูญอีก 13 คน ร่วมกันออกระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการและค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคล พ.ศ.2547 โดยมิชอบนั้น หลังจากการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ป.ป.ช.จึงมีมติว่าการกระทำของบุคคลทั้ง 14 คน มีมูลเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83
ในขณะที่การกล่าวหาผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และ อดีตเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ที่ร่วมกันออกระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการ และค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคล พ.ศ.2547 โดยมิชอบนั้น หลังจากการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ป.ป.ช.มีมติว่าการกระทำของผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภามีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83
นอกจากนี้การกระทำของอดีตเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มีมูลเป็นความผิดทางวินัยฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้น ป.ป.ช.จะได้ส่งเอกสารและความเห็นไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับบุคคลทั้งหมด และส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลต่อไป
ส่วนกรณีการกล่าวหา พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานกกต. และพวกรวม 5 คน ที่ร่วมกันออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2547 โดยมิชอบนั้น หลังจากการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ป.ป.ช.มีมติว่าการกระทำของอดีต ก.ก.ต.ทั้ง 5 คน มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า จากการชี้มูลความผิดทั้ง 3 กรณีดังกล่าว ป.ป.ช.จะส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล และเอาผิดทางวินัยกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป แต่จะยกเว้นการดำเนินคดีกับบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว คือ นายปรีชาเฉลิมวณิชย์ อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ และนายจรัล บูรณพันธุ์ศรี อดีตกรรมการการเลือกตั้ง
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--