นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ภาพรวมการระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron ทั่วโลก หลายทวีปเป็นขาลง ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือและใต้ โอเชียเนีย และแอฟริกา ทั้งนี้ทวีปเอเชียชะลอตัว ยกเว้นหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก ซึ่งกำลังอยู่ในขาขึ้นชัดเจน รวมถึงประเทศไทยด้วย
ดังนั้น คาดการณ์ว่า ในไตรมาส 2/65 หลังพีคระลอกโอมิครอนในเดือนก.พ.คาดว่าขาลงของไทยจะมีจำนวนการติดเชื้อต่อวันในระดับสูงกว่าช่วงขาลงของระลอกก่อน ดังนั้นการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจึงมีความจำเป็น โดยการติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันในช่วงไตรมาส 2/65 หากพิจารณาจากธรรมชาติการระบาดของต่างประเทศ อาจเห็น 2 ลักษณะที่เพิ่มมากขึ้นถ้าไม่ป้องกันให้ดี คือ จำนวนผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ (reinfection) จะสูงขึ้น และการติดเชื้อในกลุ่มประชากรที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนจะมากขึ้นได้
ทั้ง 2 ลักษณะไม่ได้ทำให้แปลกใจ เพราะสอดคล้องกับความรู้เดิมที่มีอยู่ว่า ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน นั้นหลบหลีกภูมิได้มาก และมีอัตราการทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าสายพันธุ์เดิม
ทั้งนี้ สายพันธุ์ BA.2 ที่กลายพันธุ์และเป็นที่จับตามองกันอยู่นั้น ข้อมูลขณะนี้พบว่าแพร่เร็วกว่าโอมิครอนดั้งเดิมคือ BA.1 แต่การหลบหลีกภูมิคุ้มกันไม่น่าจะต่างจากเดิม และอัตราการติดเชื้อซ้ำนั้นไม่ได้มากไปกว่า BA.1
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องย้ำเตือนกันคือ การติดเชื้อนั้นแม้จะรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่ที่ควรระวังคือผลกระทบระยะยาวหลังจากติดเชื้อคือ Long COVID ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่าสายพันธุ์โอมิครอน จะทำให้เกิดภาวะนี้มากกว่า เท่ากับ หรือน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ ซึ่งพบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 20-40% และเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย เกิดได้ทั้งในคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นผลการวิจัยเรื่องนี้สำหรับสายพันธุ์โอมิครอน ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีกว่า ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด และคนในที่ทำงาน หยุดเรียนหยุดงาน และไปตรวจรักษา เป็นการแสดงความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม
"โควิด-19 นั้นจะซาลงแน่อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่นโยบายระดับชาติและการดำรงชีวิตของประชาชนต้องเป็นไปอย่างมีสติ ไม่ประมาท ขืนกระโดดไล่ตามกิเลส จะเสียหายหนักระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจาก Long COVID" นพ.ธีระ กล่าว
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกวันที่ 10 ก.พ. 65 ทะลุ 403 ล้านคน โดยวานนี้ (วันที่ 9 ก.พ.) ทั่วโลกติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 2,298,201 คน เสียชีวิตเพิ่ม 10,132 คน รวมแล้วติดเชื้อรวม 403,304,053 คน เสียชีวิตรวม 5,792,980 คน โดยประเทศ 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ เยอรมนี รัสเซีย บราซิล อเมริกา และตุรกี
สำหรับจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกขณะนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 86.4% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 78.3% ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 51.24% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 34.43% โดยวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก