นพ.ธีระ เตือนโควิดไทยยังเป็นขาขึ้น ห่วงโอมิครอนทำเด็กเล็กป่วย

ข่าวทั่วไป Saturday February 12, 2022 09:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 87.29% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 80.22% โดยเมื่อวานนี้ทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,267,864 คน ตายเพิ่ม 10,324 คน รวมแล้วติดไปรวม 408,596,943 คน เสียชีวิตรวม 5,818,626 คน

สำหรับประเทศไทย การระบาดยังรุนแรง กระจายไปทั่ว และเป็นขาขึ้น ถัดจากนี้ไปจำนวนคนติดเชื้อที่มากขึ้น ทั้งที่ตรวจ ไม่ได้ตรวจ และไม่อยากตรวจ อาจทำให้เห็นปัญหาด้านสังคมมากขึ้นได้ ไม่ใช่เพียงแง่เศรษฐกิจเท่านั้น

ทั้งนี้ จากรายงานวิชาการของ UK HSA เกี่ยวกับ SARS-CoV-2 variants of concern andvariants under investigation in England ฉบับที่ 36 ล่าสุดเมื่อวานนี้ (11 ก.พ.) ได้อัพเดตความรู้โควิด-19 สายพันธุ์ Omicron มีสาระสำคัญ ดังนี้

  • การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron แม้ในผู้ใหญ่จะพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงราว 50% และความเสี่ยงในการเสียชีวิตลดลงราว 60% เมื่อเทียบกับระลอกเดลตา

แต่กลับพบว่า "เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี" นั้นมีอัตราการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่แตกต่างจากระลอกเดลตา

"เรื่องนี้จึงสำคัญมาก และเน้นย้ำให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลานให้ดี"
  • Omicron สายพันธุ์ BA.2 ที่ระบาดต่อจากสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 ซึ่งครองโลกอยู่ในปัจจุบันนั้น พบว่ามีอัตราการแพร่ระบาดได้เร็วกว่า BA.1

ที่น่าสนใจคือ ค่าเฉลี่ยของระยะเวลาตั้งแต่คนแพร่เชื้อเริ่มมีอาการ จนถึงคนที่รับเชื้อเริ่มมีอาการ (serial interval) ของเชื้อสายพันธุ์ BA.2 นั้นสั้นกว่า BA.1 โดย BA.2 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.27 วัน (ช่วงความเชื่อมั่น 3.09-3.46 วัน) และ BA.1 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.72 วัน (ช่วงความเชื่อมั่น: 3.62-3.80 วัน)

สรุปคือ เชื้อสายพันธุ์ Omicron นั้น หากคนแพร่เชื้อเริ่มมีอาการ แล้วแพร่ให้คนอื่นๆ โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่รับเชื้อมามักจะเริ่มมีอาการหลังจากนั้นประมาณ 3-4 วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ