นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทำให้มีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ได้มาก ทั้งการเกิดสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน และการเกิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทย ขณะนี้พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ในผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศในสัดส่วน 99.4% หรือเกือบ 100% ขณะที่ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยพบเป็นสัดส่วน 96.2% ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานโอมิครอนก็จะระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก 100% ในประเทศไทย
ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนในไทย พบสายพันธุ์ BA.1 และสายพันธุ์ลูก BA.1.1 ส่วน BA.2 จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (WGS) ของ BA.2 พบประมาณ 2% แต่จากการเริ่มสุ่มตรวจโดยการตรวจเบื้องต้น (SNP) ในบางพื้นที่ พบเป็น BA.2 ในสัดส่วนประมาณ 18% ซึ่งจะได้ทำการเฝ้าระวังต่อไป เนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สำหรับโอมิครอนสายพันธุ์ BA.1 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในแอฟริกาใต้ และประเทศส่วนใหญ่รวมทั้งในประเทศไทย ส่วน BA.2 ในประเทศไทย พบครั้งแรกในกลุ่มผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ช่วงต้นปี 65 โดย BA.1 และ BA.2 มีตำแหน่งกลายพันธุ์เหมือนกัน 32 mutations แตกต่างกัน 28 mutations ไม่พบการขาดหายไปของกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 69-70 บน S protein ซึ่งพบใน BA.1
ปัจจุบัน ตรวจพบ BA.2 ใน 57 ประเทศทั่วโลก เริ่มพบการระบาดแทนที่สายพันธุ์หลักในบางประเทศ เช่น อินเดีย เดนมาร์กและสวีเดน เป็นต้น โดย BA.2 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ และอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักใน 1-2 เดือน เพราะสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่า BA.1
ทั้งนี้ Frederik และคณะรายงานผลการศึกษาในเดนมาร์ก พบโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ BA.1 แม้ว่า BA.2 จะมีคุณสมบัติในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน จากข้อมูลที่มี ณ ขณะนี้ความรุนแรงของโรคไม่ต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์หลัก และวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงสามารถป้องกันอาการป่วยและอาการรุนแรงได้ สำหรับ BA.1.1 เป็นกิ่งย่อยของ BA.1 ส่วน BA.3 ยังไม่มีข้อมูลมากนัก
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลเบื้องต้นเริ่มเห็นสัญญาณว่า BA.2 สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่า BA.1 ส่วนเรื่องความรุนแรง ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ โดยทางกรมวิทย์ฯ จะประสานกับกรมการแพทย์ เพื่อติดตามอาการทางคลินิกของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ต่อไป
"เราพบข้อมูลว่า BA.2 แพร่เร็วกว่า BA.1 แต่เร็วกว่ากี่เท่ายังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ซึ่งกรมฯ จะตามดูเป็นสัปดาห์ๆ ไป ซึ่งหาก BA.2 แพร่เร็วกว่าแต่ความรุนแรงไม่เพิ่มขึ้น ก็ไม่มีผลอะไร แต่หาก BA.2 มีอาการหนัก หรือสามารถหลบวัคซีนได้มากขึ้น ก็อาจต้องมีมาตรการบางอย่างมารองรับ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลเท่าที่มีนั้นบ่งชี้ว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นยังช่วยป้องกันสายพันธุ์ทั้ง BA.1 และ BA.2 สามารถลดอาการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับเข็มบูสเตอร์รีบไปรับวัคซีน" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ ได้กล่าวถึงโควิดสายพันธุ์เดลตาครอน กรณีมหาวิทยาลัยไซปรัสว่า ขณะนี้เรื่องเงียบไปแล้ว ข้อสรุปคือการปนเปื้อน ซึ่งทางฐานข้อมูล GISAID ก็ได้ถอนข้อมูลรายงานเรื่องนี้ไปแล้ว โดยค่อนข้างชัดเจนว่าเดลตาครอน ตรวจพบเดลตาที่แตกต่างกัน และโอมิครอนที่เหมือนกันใน 20 กว่าตัวอย่าง ถ้าเป็นพันธุ์ใหม่ทั้งสองฝั่งต้องเหมือนกันทั้งคู่ แต่เดลตามีความแตกต่างกัน แสดงว่าเป็นการติดเชื้อปกติของเดลตา แล้วมีโอมิครอนปนเข้าไปในช่วงการทำแล็บ ทั้งนี้ ไทยได้นำข้อมูลจาก GISAID ก่อนที่จะถอนมาวิเคราะห์แล้ว ก็เชื่อว่าไม่ใช่ตัวใหม่ เนื่องจากเดลตากับโอมิครอนเป็นคนละตัวกัน
ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. กล่าวว่า กรมวิทย์ฯ อยู่ระหว่างการตรวจภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนต่อเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ที่หลังจากนี้จะมีการทดสอบลงลึกในสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ต่อไป ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในสูตรต่างๆ นั้น ให้ผลดีต่อ BA.1 และ BA.2 อย่างไร