นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย ได้เป็นประธานการประชุมกับ บมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) เพื่อหารือถึงความคืบหน้าการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหลกลางทะเลระยอง ว่า บริษัทฯ ได้นำเสนอแผนการนำน้ำมันที่คาดว่าคงเหลืออยู่อีกประมาณ 12,000 ลิตร ออกจากท่อที่เสียหายและพันปิดรอยรั่ว และแผนการเตรียมการเฝ้าระวังและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน โดยมีผู้แทนจากสภาวิศวกรแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด ร่วมประชุม
ซึ่งบริษัทได้เสนอแผนการปฏิบัติงานในเบื้องต้นต่อที่ประชุม แบ่งการปฏิบัติงานออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การฉีดน้ำยากันรั่วที่บอลวาล์ว 2. การดูดน้ำมันที่คงค้างออกจากท่อ 3. การพันปิดรอยรั่วทั้ง 2 จุด โดยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ ซึ่งการปฏิบัติการทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับ ดูแลจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และจากบริษัทผู้ผลิตท่อส่งน้ำมัน และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า เพื่อให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัย โดยมีการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงาน การประเมินและควบคุมความเสี่ยง และการกำกับดูแลควบคุมการปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัย
ในการนี้ บริษัทฯ ได้มีแผนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและการเตรียมการเฝ้าระวัง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ติดตั้งทุ่นกักน้ำมัน จำนวน 5 เส้น ความยาวเส้นละ 200 เมตร บริเวณทุ่น SINGLE POINT MOORING (SPM) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้เรือลากจูงจำนวน 10 ลำในการลากจูงทุ่นกักน้ำมัน กลุ่มที่ 2 ติดตั้งอุปกรณ์ฉีดพ่นสารขจัดคราบน้ำมันบนเรือลากจูง กลุ่มที่ 3 ติดตั้งอุปกรณ์เก็บคราบน้ำมันบนเรือ ศรีราชา ออฟชอร์ 881 ซึ่งสามารถเก็บน้ำมันได้ถึง 1 แสนลิตร/ชั่วโมง และเตรียมเรือสำหรับรับน้ำมันที่สูบขึ้นมาจากท่อในทะเล ติดตั้งเต็นท์ดักคราบน้ำมันใต้ทะเล ติดตั้งปั้มสำหรับดูดน้ำมันออกจากเต็นท์ดักคราบน้ำมันใต้ทะเล และประสานกองทัพเรือเตรียมเรือหลวงหนองสาหร่าย สำหรับเฝ้าระวังและบันทึกภาพงานใต้น้ำ พร้อมนักประดาอีก 24 นาย
รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้เน้นย้ำให้ SPRC ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมประชุม และให้จัดส่งเอกสารเสนอแผนการดำเนินงานทั้งหมดอีกครั้ง ถึงสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยองก่อนเวลา 10.00 น. วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อดำเนินการอนุมัติแผนการปฏิบัติการในขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป และย้ำผู้ประกอบการให้มีการฝึกซ้อมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการทำงานเชิงป้องกัน โดยศึกษาจากกรณีดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคต
รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างร้ายแรง ส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมแก้ปัญหาและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันฯ กรมเจ้าท่า ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด ตามมาตรา 119 ทวิ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์หรือสิ่งใด ๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย อันอาจเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 การฝ่าฝืนเงื่อนใขการประกอบกิจการท่าเรือ พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีได้ โดยกำหนดบทลงโทษปรับสูงสุดสองหมื่นบาท และมีโทษปรับรายวันอีกด้วย
สำหรับการฟื้นฟู ชดเชย และเยียวยา คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) จะดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟู และประเมิน ค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมัน อาศัยอำนาจ ตามข้อ 10(5) และ (8) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 ประกอบกับข้อ 13 ของแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ประเมินค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมัน ของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมปฏิบัติการ อีกทั้งความเสียหายของพื้นที่ชายฝั่ง และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน มีการกำหนดหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ ค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาส ในพื้นที่ที่เกิดความเสียหายจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัด SPRC และช่องทางอื่น ๆ ตลอดจนติดตามผลการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหาย การฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิม
"จากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ บูรณาการการทำงาน โดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน บนพื้นฐานการปฏิบัติตามแผนชาติ และแผนการปฏิบัติการอย่างเป็นขั้นตอน นำมาซึ่งความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์ และปฏิบัติงานขจัดคราบน้ำมันได้ตามขั้นตอนที่วางแผนไว้" รองอธิบดีกรมเจ้าท่าระบุ
ขณะที่ บมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ได้อออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 รายงานความคืบหน้าของเหตุการณ์ พร้อมเดินหน้าขจัดคราบน้ำมันและสิ่งปนเปื้อนที่รั่วไหลจากท่ออ่อนบริเวณจุดขนถ่ายน้ำมัน (SPM) ในอ่าวไทยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 อย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่า หลังจากที่มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินการตามแผนในการเตรียมนำน้ำมันดิบออกจากท่ออ่อนใต้ทะเลเส้นที่ไม่ได้รับความเสียหาย ซึ่งในระหว่างการเตรียมงาน ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ได้สังเกตเห็นน้ำมันไหลออกมาจากรอยรั่วจุดที่สอง จึงได้ทำการหยุดกิจรรมทั้งหมดโดยทันที และระดมทีมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินปฏิบัติการตอบโต้ เพื่อควบคุมสถานการณ์ทั้งในทะเลและชายฝั่งทันที
ต่อมา ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 พบแผ่นฟิล์มน้ำมันประมาณ 5,000 ลิตร บริเวณรอบนอกของจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) บริษัทฯ ขอรับการสนับสนุนจากองทัพเรือ โดยได้ทำการฉีดพ่นสารขจัดคราบน้ำมันด้วยเรือ และเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งใช้โดรนเฝ้าสังเกตการณ์ทางอากาศ ทั้งนี้ ปฏิบัติการดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว
จากการหาสาเหตุการรั่วไหลของน้ำมันในเบื้องต้น บริษัทฯ พบว่าท่ออ่อนใต้ทะเลเส้นที่เสียหาย มีรอยปริสองจุด โดยจุดแรกได้ถูกห่อหุ้มเพื่อหยุดการรั่วไหลไว้แล้ว ส่วนจุดที่สอง ไม่พบการรั่วไหลของน้ำมันเพิ่มเติมในช่วงที่ท้องทะเลมีสภาวะปกติ อันเนื่องมาจากแรงดันสมดุลใต้น้ำ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาวะในท้องทะเลมีความไม่แน่นอน ในสภาวะที่ท้องทะเลไม่ปกติ อาจส่งผลให้มีน้ำมันรั่วไหลเพิ่มเติมจากจุดที่สองนี้ได้ ดังนั้น ภารกิจเร่งด่วนของบริษัทฯ คือการนำวัสดุมาห่อหุ้ม (Wrapping) ท่ออ่อนใต้ทะเลบริเวณรอยปริดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลเพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ส่วนกระบวนการนำน้ำมันออกจากท่อ และการเก็บกู้ท่อที่เสียหายนั้น บริษัทฯ จะดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างรอบคอบ ตามที่ได้มีการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงตามที่ได้รับคำแนะนำทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ คำแนะนำจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย และผู้ชำนาญการด้านการเก็บกู้น้ำมัน
บริษัทฯ ได้จัดให้มีอุปกรณ์กักเก็บน้ำมันใต้น้ำ (subsea tent) บริเวณท่ออ่อนใต้ทะเลเส้นที่เสียหาย และมีการใช้โดรนและเฮลิคอปเตอร์เฝ้าระวังทางอากาศ อากาศยานใต้น้ำสำหรับเฝ้าระวังใต้น้ำ และมีการจัดเตรียมทุ่นกักน้ำมัน (boom) อุปกรณ์ดูดคราบน้ำมัน (skimmer) และเรือฉีดพ่นสารฉีดพ่นขจัดน้ำมัน เพื่อใช้ในยามจำเป็นและฉุกเฉินจนกว่ากระบวนการนำน้ำมันออกจากท่อจะสำเร็จลุล่วงและปลอดภัย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัทฯ ยังได้ตั้งคณะกรรมการตรวจพิสูจน์และสืบหาข้อเท็จจริง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาน้ำมันรั่วในครั้งนี้ โดยคณะกรรมการตรวจพิสูจน์และสืบหาข้อเท็จจริง ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ 3 ท่าน ที่มีความรู้เฉพาะในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วัสดุศาสตร์ และการวิเคราะห์หาสาเหตุ และผู้แทน ของบริษัทฯ 2 ท่าน โดยขั้นตอนการตรวจพิสูจน์และสืบหาข้อเท็จจริง จะทำขึ้นอย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และเป็นไปตามข้อเท็จจริง
นายโรเบิร์ต โดบริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SPRC กล่าวว่า บริษัทฯ ได้จัดเตรียมแผนการทำงานเกี่ยวกับการนำน้ำมันออกจากท่ออ่อนใต้ทะเล และการเก็บกู้ท่อที่เสียหายจากจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) รวมถึงแนวทางป้องกันและการตอบโต้อย่างรัดกุม โดยความพยายามในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทางด้านอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน
การปฏิบัติงานในครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก บริษัทฯ ขอขอบคุณการสนับสนุนจากกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมทำงานกับพวกเราอย่างเต็มที่ บริษัทฯ ขอยืนยันว่าจะทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามข้อบังคับที่ได้รับจากหน่วยงานทั้งหมดอย่างเคร่งครัด
"SPRC ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการอยู่ร่วมกัน และความสัมพันธ์อันดีอย่างยาวนานมาโดยตลอด ระหว่าง SPRC กับชุมชนชาวระยอง ผมขอโทษทุกท่านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ SPRC จะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินผลกระทบ และจะดำเนินงานด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป" นายโรเบิร์ต กล่าว
พร้อมระบุว่า บริษัทฯ พยายามอย่างเต็มที่ในการพิจารณาชดใช้ค่าเสียหายที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลัก โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน 4 คณะ เพื่อพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์และกระบวนการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบในแต่ละกลุ่ม
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งสายด่วน 1567 และศูนย์ให้ความช่วยเหลือที่บ้านสบ๊าย สบาย รีสอร์ท หาดแม่รำพึง ตำบลตะพง เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยา