ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,883 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 18,618 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 86 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 17 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 162 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 15,010 ราย
- เสียชีวิต 32 ราย เป็นเพศชาย 13 ราย เพศหญิง 19 ราย อายุเฉลี่ย 77 ปี (อายุระหว่าง 28-92 ปี) แยกเป็น อายุ 60 ปีขึ้นไป 25 ราย คิดเป็น 78% อายุน้อยกว่า 60 ปี และมีโรคเรื้อรัง 7 ราย คิดเป็น 22%
จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 2,753 ราย, นครศรีธรรมราช 960 ราย, สมุทรปราการ 926 ราย, ชลบุรี 884 ราย, นนทบุรี 852 ราย, ภูเก็ต 628 ราย, นครราชสีมา 563 ราย, ระยอง 475 ราย, นครปฐม 429 ราย, บุรีรัมย์ 421 รายและปทุมธานี 421 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 2,731,198 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 14,914 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 22,656 ราย
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 424,990,285 ราย เสียชีวิต 5,906,093 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา 80,087,617 ราย อันดับ 2 อินเดีย 42,837,960 ราย อันดับ 3 บราซิล 28,208,212 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 22,286,829 ราย และอันดับ 5 สหราชอาณาจักร 18,605,752 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 32
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า การรายงานผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) โดยจะเห็นว่าทิศทางตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงขึ้น และขึ้นๆ ลงๆ ซึ่งจังหวัดที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูง คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ยังเป็นทิศทางที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากจำแนกตามกลุ่มอายุ และสัปดาห์ในการระบาด ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.พ.2565 สูงสุดพบว่า อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานอายุ 18-59 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 18 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเห็นว่า ทุกกลุ่มมีแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่หากเมื่อเทียบกับเดือนส.ค. 2564 การติดเชื้อในขณะนี้ยังไม่เทียบเท่าปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เน้นย้ำว่า ตอนนี้ระบบการดูแลรักษาของกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้มีการแยกกักดูแลที่บ้าน รวมทั้งศูนย์แยกกักและดูแลรักษาในชุมชน และไม่สามารถนำการดูแลรักษาปีนี้ไปเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากมีการพัฒนาเข้าใจโรคมากขึ้น ระบบสาธารณสุขที่รองรับยังมีเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมากขึ้น
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงคลัสเตอร์ที่มีรายงานวันนี้ว่า ตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ร้านอาหาร และร้านอาหารที่เปิดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบสถานบันเทิงที่ขอนแก่น สงขลา ส่วนคลัสเตอร์โรงเรียนพบที่น่าน หนองคาย เลย ในโรงเรียนกีฬา ที่สุพรรณบุรี นครราชสีมา สุรินทร์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฎ ร้อยเอ็ด จันทบุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และในมหาวิทยาลัย ที่พะเยา และยังมีคลัสเตอร์ที่ติดเชื้อซ้ำ คือ คลัสเตอร์ตลาดขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ในชุมชน พบใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา อุบลราชธานี นครพนม จันทบุรี สุรินทร์ และเพชรบุรี
ซึ่ง พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) เน้นย้ำไปยังกลไกฝ่ายปกครองทุกจังหวัด ขอให้กำกับติดตาม โดยเฉพาะคลัสเตอร์ตลาดที่มีการติดเชื้อซ้ำซาก ขอให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านลงพื้นที่กำกับดูแลในทุกระดับ เพราะคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นเป็นพื้นที่เดิมๆ ที่ติดเชื้อซ้ำจะต้องปิดแล้วปิดอีก
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า ส่วนคลัสเตอร์งานประเพณี และพิธีกรรมทางศาสนา มีการรายงานคลัสเตอร์งานศพที่มุกดาหาร งานบุญที่กาฬสินธุ์ หนองคาย และอุดรธานี โดย ผอ.ศปก.ศบค.เน้นย้ำว่า การติดเชื้อไม่ได้เกิดจากงานพิธีกรรม แต่พบว่าทั้งงานศพและงานบุญหลังพิธีกรรม จะมีการจัดเลี้ยงรับประทานอาหาร การเล่นพนัน การตั้งวงเหล้า การเล่นพนันชนไก่ ดังนั้นจึงต้องขอเน้นย้ำให้ฝ่ายปกครองกำกับติดตามมาตรการอย่างเข้มงวดในทุกระดับและช่วยสาธารณสุขในพื้นที่
ขณะเดียวกัน คลัสเตอร์ที่ ศบค.มีความเป็นห่วงคือ คลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีรายงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลที่สุรินท์ เชียงใหม่ ขอนแก่น และยะลา สิ่งสำคัญคือ หากบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด จะส่งผลให้บุคลากรขาดแคลน ซึ่งเป็นสิ่งที่ ศบค.เป็นห่วง ดังนั้นขอให้งดเว้นหรือชะลอกิจกรรมสังสรรค์ไปก่อน เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังสูงขึ้น จึงขอให้ทำกิจกรรมเท่าที่จำเป็น หรือกิจกรรมที่จะต้องขับเคลื่อนเพื่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน หากจำเป็นจะต้องจัดขอให้ผู้จัดเข้มงวดมาตรการ โดยหากมีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ขอให้มีการตรวจ ATK เว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัย เว้นการรับประทานอาหาร และดื่มแอลกอฮอล์สังสรรค์ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ได้รายงานข้อมูลว่า เตียงของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ณ วันที่ 20 ก.พ.65 มีอัตราการครองเตียงระดับสองทั่วประเทศ ตอนนี้ยังอยู่ที่ 19% ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ ระดับสาม มีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 16.5% ซึ่งถือว่า ยังมีเตียงเพียงพอรองรับการเจ็บป่วยหนัก
ทั้งนี้ ผอ.ศบค.มีคำสั่งให้ทุกจังหวัด เตรียมโรงพยาบาลสนามรองรับในกรณีที่มีความจำเป็น จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนที่อยู่ในระดับการติดเชื้อสีเขียว ไม่มีอาการหรือในวัยที่อายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัว หากตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ขอให้เลือกการรักษาตัวที่บ้าน