(เพิ่มเติม) รมว.สธ.หารือร่วมภาคท่องเที่ยว หาแนวทางปรับมาตรการเข้าประเทศก่อนเสนอศบค.

ข่าวทั่วไป Tuesday February 22, 2022 18:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บรหิรกระทรวงสาธารณสุข และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม ร่วมหารือแนวทางการปรับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรประเภท Test&Go เพื่อนำความเห็นของภาคเอกชน ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาพิจารณาและหาจุดสมดุลในการปรับมาตรการเข้าประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งมาตรการก่อนการเดินทางเข้าประเทศ อาทิ การลงทะเบียน Thailand Pass, การตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง, การยกเลิกตรวจ RT-PCR ในวันที่ 5 และใช้การตรวจ Self ATK แทน, การปรับลดวงเงินประกันการเดินทาง รวมถึงมาตรการเมื่อถึงประเทศไทยและขณะอยู่ในประเทศ อาทิ, การปรับลดวันการแยกกักรักษาผู้ติดเชื้อ, การกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก่อนจะนำข้อคิดเห็นเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณา

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยวเตรียมรับการเปิดประเทศ ควบคู่ไปกับการป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุมโรค

นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้ จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในช่วงขาขึ้น ประเทศไทยมีอัตราการติดเชื้อ ป่วยหนักและเสียชีวิตสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ พบการติดเชื้อในช่องทาง Sandbox สูงกว่าช่องทางอื่นๆ

นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแคปปิตอล เอ (กลุ่ม แอร์ เอเชีย) กล่าวว่า สายการบินต้องการผลักดันการลดข้อบังคับต่าง ๆ จากมาตรการ Test&Go และ Thailand Pass ซึ่งขณะนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในภาพรวมที่ค่อนข้างสูงและเป็นภาระของนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ตัดสินใจเดินทางระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ แอร์เอเชียมีความจำนงที่จะเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางใหม่ ๆ ในรูปแบบ Direct Flight กับต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาคและช่วยประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเห็นถึงความสวยงามในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีแผนที่พัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศของภูมิภาคอาเซียน

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยินดีช่วยสนับสนุน เพื่อให้การเดินทางระหว่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้นและพร้อมสนับสนุนการเปิดเส้นทางการบินใหม่อันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และมีความยินดีที่จะเปิดรับทุกสายการบินที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการลงทุนเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางอากาศของอาเซียนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

รวมถึงชักชวนให้ทางแอร์เอเชีย ลงทุนในเครื่องบิน ATR เพื่อเปิดธุรกิจเส้นทางการบินเชื่อมเมืองท่องเที่ยวและเมืองสำคัญต่าง ๆ ในมาเลเซีย กับ ท่าอากาศยานเบตง เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเชื่อมโยงการเดินทางไปยังภูมิภาคอื่นของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้พบกับผู้บริหาร บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อก จำกัด เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาเส้นทางการบินเส้นทางใหม่ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เช่นกัน

ทั้งนี้ จากการรวบรวบข้อมูลของสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พบว่า ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 เส้นทางการบินภายในประเทศที่มีผู้โดยสารใช้บริการสูงสุด อันดับ 1 คือ กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ 923,714 คน อันดับ 2 คือ กรุงเทพฯ - ภูเก็ต 695,557 คน และอันดับ 3 คือ กรุงเทพฯ - หาดใหญ่ 474,152 คน

เส้นทางการบินระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารใช้บริการสูงสุด อันดับ 1 คือ กรุงเทพฯ - ดูไบ 76,671 คน อันดับ 2 คือ กรุงเทพฯ - สิงคโปร์ 74,446 คน และอันดับ 3 คือ กรุงเทพฯ - โดฮา 72,008 คน รวมถึงได้ประมาณสถานการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของผู้โดยสารระหว่างประเทศไว้ 3 กรณี ได้แก่ กรณีดีที่สุด (Best Case) กรณีฐาน (Base Case) และกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินการตาม มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ