นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยปรับลดในส่วนการตรวจครั้งที่ 2 ด้วย RT-PCR ในวันที่ 5 หลังจากเดินทางเข้ามาในประเทศ เป็นการตรวจแบบ ATK แทน เพื่อลดค่าใช้จ่ายหลังได้รับการร้องขอมา
นอกจากนี้ ที่ประชุมศบค. เห็นชอบปรับลดวงเงินประกันสุขภาพนักท่องเที่ยวจากเดิม 50,000 เหรียญสหรัฐ มาเป็นไม่น้อยกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐ โดยที่ประชุมมอบหมายให้พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ไปดูในรายละเอียดเพิ่มเติม
ด้านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รายงานการจ่ายค่าบริการโควิด-19 ว่า ยอดการจ่ายชดเชยค่าบริการกรณี โควิด-19 ปี 63 -ม.ค.65 ประกอบด้วยประเทศโรงพยาบาลรัฐ จำนวน 3,506 แห่ง เบิกจ่ายไปแล้ว 70,994 ล้านบาท คงเหลือ 3,090 ล้านบาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชน 672 แห่ง เบิกจ่ายไปแล้ว 27,160 ล้านบาท คงเหลืออีก 100 ล้านบาท รวมแล้วประเทศจ่ายไป 101,344 ล้านบาท หากแบ่งตามระดับอาการ ระดับสีเขียว ค่าเฉลี่ยจ่ายค่ารักษาพยาบาลต่อรายในส่วนภาครัฐ 23,248 บาท/คน เอกชน 50,326 บาท/คน ขณะที่ผู้ป่วยระดับสีเหลืองภาครัฐ 81,844 บาท/คน ภาคเอกชน 92,752 บาท/คน และระดับสีแดงภาครัฐ 252,184 บาท/คน เอกชน 375,428 บาท/คน
แต่ในวันที่ 1 มี.ค.นี้ มีการปรับราคาใหม่ โดยระดับอาการสีเขียว ค่ารักษารายละ 12,000 บาท/คน สีเหลือง 69,300 บาท/คน และสีแดง 214,400 บาท/คน
สำหรับสัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน (UCEP) แยกรายสีผู้ป่วย พบว่า กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวไปใช้สิทธิถึง 88% ส่วนสีแดง 1% และสีเหลือง 11% ทางผู้อำนวยการศบค.แจ้งว่า ทางรัฐยังคงให้สิทธิ แต่อาจจะให้มีการปรับเกณฑ์ หรืออาจจะปรับเป็น UCEP Plus เพื่อให้ประชาชนไม่เดือดร้อนและได้รับสิทธิในการดูแลในภาวะฉุกเฉิน เพราะภาวะฉุกเฉินบางคนมีอาการเจ็บหน้าอก หรือฉุกเฉินจริง เพื่อให้เกิดการสมเหตุสมผลที่จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายออกไป ทั้งนี้ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะต้องนำเรื่องดังกล่าวกลับไปพิจารณา แล้วนำเข้ามาเสนอที่ประชุมอีกครั้ง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบมาตรการเปิดเรียนแบบ On Site สำหรับโรงเรียนประจำและโรงเรียนไป-กลับ ประกอบด้วย นักเรียน ครูหรือบุคลากรเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำสามารถเรียน On Site ได้ตามปกติ แต่ให้สังเกตอาการ กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้จัดพื้นที่การเรียนการสอน ปฏิบัติงานทำกิจกรรมใน Quarantion Zone และแยกกับตัวเป็นเวลา 7 วัน และให้สังเกตอาการอีก 3 วัน
ส่วนแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 นักเรียน เนื่องจากขณะนี้ใกล้จะปิดเทอมแล้วก็ต้องเร่งฉีดวัคซีนนักเรียนที่เหลือ เพื่อเตรียมการเปิดเทอมในช่วงถัดไป ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะนำเสนอทางเลือกให้กับประชาชนอีกครั้ง
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังคงระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรตามเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 44 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 25 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 8 จังหวัด