นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ได้พัฒนาความตึงเครียดไปจนถึงขีดสุดว่า มีผลอย่างยิ่งต่อราคาธัญพืช ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด ซึ่งอาจไม่สามารถเก็บเกี่ยวหรือทำการส่งออกได้ตามปกติ รวมถึงภัยแล้งในประเทศบราซิลที่กระทบปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองด้วย
สำหรับราคาข้าวสาลีนำเข้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการเลี้ยงไก่ ราคาปรับสูงขึ้นจาก 8-9 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อปี 64 เพิ่มเป็น 12 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน ขณะที่ข้าวโพดในประเทศไทย ราคาปรับไปถึง 11.10 บาทต่อกิโลกรัม และกำลังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อวัตถุดิบชนิดอื่นที่มีแนวโน้มราคาสูงตามไปด้วย ปัจจุบันวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ราคาขึ้นมาสูงกว่า 50-60% แล้ว ยังไม่นับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่จะสูงขึ้นทำให้ต้นทุนค่าขนส่งปรับเพิ่มด้วย
"ต้นทุนการผลิตเนื้อไก่สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคาเนื้อไก่และไข่ไก่กลับถูกตรึงอยู่ ไม่สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น หากวัตถุดิบทุกชนิดมีราคาสูงเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ไม่มีทางอยู่รอดได้ ทางที่ดี ถ้ารัฐไม่สามารถควบคุมราคาวัตถุดิบจากผลกระทบของสถานการณ์ยูเครน ก็ควรปล่อยให้ราคาไก่และไก่ไข่เป็นไปตามกลไกที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับราคาหมูที่ลดลงเพราะกลไกตลาดทำงานอย่างเสรี การยุติการตรึงราคาไก่และไข่ จะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเลี้ยงสัตว์ต่อไป" นางฉวีวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศรัสเซียและยูเครน มีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันประมาณ 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก ส่วนข้าวโพด 19% ของตลาดโลก โดยราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญมีราคาเพิ่มขึ้นไปแล้ว 40% จากปี 64