นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเพิ่มระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก ที่จะเริ่มวันที่ 1 มีนาคม 2565 ว่า การดูแลผู้ติดเชื้อโควิดแบบผู้ป่วยนอกเป็นบริการเพิ่มเติมจากระบบปกติ ไม่ได้มีการยกเลิกระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) ดังนั้น หากผลตรวจหาเชื้อเป็นบวกยังสามารถติดต่อเข้าระบบ HI/CI ได้ตามปกติ แต่ที่เพิ่มการดูแลแบบผู้ป่วยนอก เพื่อรองรับกรณียังเข้าระบบ HI/CI ไม่ได้ หรือยังไม่ได้รับการติดต่อ เป็นทางเลือกให้สามารถไปรับบริการที่คลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ในลักษณะผู้ป่วยนอกได้ ซึ่งจะทำให้ได้รับการตรวจวินิจฉัย จ่ายยารักษาตามระดับอาการอย่างเหมาะสม และให้คำแนะนำในการกลับไปแยกกักรักษาที่บ้าน ซึ่งรายละเอียด ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ต่างๆ อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ 3 แห่ง คือ ราชวิทยาลับกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า การเพิ่มบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกสามารถทำได้ เนื่องจากโรคโควิด-19 ที่พบในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่ง 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้ออกคำแนะนำการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กเบื้องต้นแล้วว่า สามารถตรวจรักษาในลักษณะผู้ป่วยนอกได้ จึงเป็นที่มาของการเพิ่มแนวทางการดูแลดังกล่าว ซึ่งจะครอบคลุมทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ถือเป็นการขับเคลื่อนแพื่อเตรียมการปรับเปลี่ยนโรคโควิด-19 จากการระบาดใหญ่ (Pandemic) ไปสู่โรคประจำถิ่น (Endemic)
"การไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกโควิดวันที่ 1 มีนาคมนี้ เบื้องต้นสามารถไปรับบริการได้ทุกที่ เนื่องจากยังคงประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉินภายใต้สิทธิ UCEP COVID อย่างไรก็ตาม จะมีการหารือกับกองทุนสุขภาพแต่ละกองทุนถึงแนวทางการเบิกจ่ายค่าบริการโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกให้เหมาะสมต่อไป" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว