นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย ขณะที่ผู้ติดเชื้อในแถบยุโรป สหรัฐ มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เนื่องด้วยการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค และมีผู้เดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย พบผู้ป่วยผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกภูมิภาค ทำให้พบผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยเสียชีวิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง อ้วน และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
"ปัจจุบัน อัตราการเสียชีวิตยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงที่มีการระบาดของเดลตามาก เนื่องจากโอมิครอนมีความรุนแรงของโรคน้อย สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ อยู่ต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ต่ำสุด ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต อยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับที่คาดการณ์ไว้ต่ำสุด" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ดังนั้น สธ. จะเน้นตรวจจับการระบาดในลักษณะคลัสเตอร์ในกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในวงกว้าง เช่น ร้านอาหารกึ่งผับ บาร์ กิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 500 คน ในสถานที่ปิด พูดคุยและไม่สวมหน้ากากเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน เนื่องจากจากข้อมูลการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 วันที่ 1 ม.ค.-18 ก.พ. 65 ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 666 ราย คิดเป็น 82% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยในจำนวนนี้มี 387 คน หรือ 58% ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน, มีประวัติรับวัคซีน 1 เข็ม 66 คน คิดเป็น 10%, มีประวัติรับวัคซีน 2 เข็ม 197 คน คิดเป็น 30% ซึ่งป้องกันการเสียชีวิตลดลง 6 เท่า และมีประวัติรับวัคซีน 3 เข็ม 16 คน คิดเป็น 2% ซึ่งป้องกันการเสียชีวิตลดลง 41 เท่า
"จะเห็นได้ว่าผู้ที่รับวัคซีนยิ่งมากเท่าไร โอกาสในการเสียชีวิตก็จะลดลงเท่านั้น ดังนั้น ขอให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และฉีดเข็มกระตุ้น 3-4 ในผู้ที่ครบกำหนดเวลาแล้ว เนื่องจากสามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ในระดับสูง นอกจากนี้ ขอให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) รวมทั้งเด็กอายุ 5-11 ปี และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนทุกเข็ม ให้รีบไปรับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
สำหรับการคาดการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และผลจากมาตรการป้องกันควบคุมโรคปี 65 เปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ภาพรวมในประเทศ คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในเดือนมี.ค. จำนวนผู้ติดเชื้อจะอยู่ในระนาบและค่อยๆ ลดลง ส่วนผู้ป่วยที่ปอดอักเสบคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 1,000 รายต่อวัน ซึ่งเมื่อเทียบกับเดลตาที่มีจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบถึง 6,000-7,000 ราย
ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ คาดว่าจะมีจำนวน 400-500 รายต่อวัน ซึ่งเมื่อเทียบกับเดลตาที่มีจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบถึง 1,300 ราย ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า สธ. สามารถดูแลได้ สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตหลังจากนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 50 รายต่อวัน และจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ตามอัตราการติดเชื้อ
"สถานการณ์โรคโควิด-19 ช่วงขาขึ้น พบการระบาดในวงกว้าง ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หรืออาการน้อย เน้นติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้ป่วยเสียชีวิต ทุกจังหวัด" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคาดการณ์การระบาดของโอมิครอน และผลจากมาตรการป้องกันควบคุมโรคปี 65 ดังนี้
- ฉากทัศน์ที่ 1 ผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดแยกกัก-กักตัว ฉีดวัคซีนทุกเข็ม (น้อยกว่า 200,000 โดสต่อวัน) ประชาชนส่วนใหญ่หย่อนต่อมาตรการ Universal Prevention (UP) ในกรณีนี้คาดจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดแตะระดับ 100,000 รายต่อวัน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดแตะ 250 รายต่อวัน
- ฉากทัศน์ที่ 2 คงมาตรการต่างๆ และประชาชนร่วมมือ ในระดับปัจจุบัน และคาดการณ์พบการแพร่โรคต่อเนื่องไปทุกจังหวัด จนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในกรณีนี้คาดจำนวนผู้ติดเชื้ออาจขึ้นไปถึง 50,000 รายต่อวัน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 130-140 รายต่อวัน
- ฉากทัศน์ที่ 3 ผลจากการติดเชื้อเพิ่มช่วง ม.ค.-ก.พ. 65 และเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกันโรค ประกอบกับในเดือน มี.ค.-เม.ย. 65 ปฏิบัติได้ตามการเตือนภัยโควิด-19 ระดับ 4 งดการรวมกลุ่ม WFH ชะลอเดินทาง และเร่งการฉีดวัคซีนมากขึ้นทุกเข็ม (เกิน 400,000 โดสต่อวัน) และปฏิบัติตาม VUCA อย่างเคร่งครัด ในกรณีนี้คาดจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ระดับ 20,000 รายต่อวัน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 50-60 รายต่อวัน
ส่วนสถานการณ์เตียงในโรงพยาบาล จากระบบ CO-Ward ในเขตสุขภาพที่ 1-13 ปัจจุบันมีเตียงทั้งหมด 173,777 เตียง มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 102,442 เตียง คิดเป็น 59% เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการน้อย จึงอยู่ในระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation: HI) และชุมชน (Community Isolation: CI)
ในส่วนของสถานการณ์ยา Favipiravir 200 mg มีการสำรองยารวมอยู่ที่ 16,904,718 เม็ด แบ่งเป็นองค์การเภสัชกรรม (EOC) 65,200 เม็ด เขตสุขภาพที่ 1-12 ที่ 13,343,882 เม็ด และเขตสุขภาพที่ 13 (กทม.) 3,495,636 เม็ด ในขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 65 องค์การเภสัชกรรม (GPO) มีแผนการจัดหายาอีก 23.8 ล้านเม็ด และผลิตยาอีก 63.8 ล้านเม็ด รวมยาทั้งหมด 87.6 ล้านเม็ด ซึ่งเพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด และได้กระจายยาไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างทั่วถึง
"กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความมั่นใจต่อประชาชน ได้เตรียมยา เวชภัณฑ์ เตียง บุคลากรทางการแพทย์ และระบบการติดตามอาการป่วยของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รองรับการระบาดในวงกว้าง" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ จัดให้มีระบบการส่งต่อผู้ป่วย กรณีป่วยอาการหนักด้วย Antigen Test Kit (ATK) First และเข้าสู่ระบบรักษาแบบผู้ป่วยนอก (Out Patient Department: OPD) หรือ CI และ HI First ปรับการรักษาผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยอาการน้อยเป็นรูปแบบผู้ป่วยนอก โดยให้การดูแลรักษาด้วยตนเองที่บ้าน และแยกกักที่บ้าน HI ลงทะเบียน โทร.1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือทางออนไลน์ หรือติดต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากมีอาการป่วยรุนแรง สามารถรับการรักษาในโรงพยาบาลได้ตามสิทธิ์การรักษา
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากตัวอย่างการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในทวีปยุโรป และประเทศอเมริกาที่มีการระบาดมากในช่วง 1-2 เดือนและจะค่อยๆ ลดลง ในส่วนของประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยผ่านมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ดังนั้น คาดการณ์ว่าการระบาดจะเพิ่มสูงถึงประมาณ 2- 6 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมาตรการต่างๆ ที่มีด้วย
"การติดเชื้อของโอมิครอนส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ผู้ป่วยจึงมีอาการทางจมูกและคอเป็นส่วนมาก และผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 2 แสนกว่าราย พบว่ามีเพียง 0.45% ที่ปอดอักเสบ และ 0.13% ที่ใส่ท่อช่วยหายใจสำหรับสายพันธุ์ BA.2 จะมีความสามารถในการแพร่กระจายเร็วกว่า BA.1 เล็กน้อย แต่เรื่องความรุนแรงของโรคไม่แตกต่างกัน" นพ.โอภาส กล่าว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางเตรียมพร้อมการรักษาโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic) เนื่องจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีอาการรุนแรง และการเสียชีวิตน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา ประกอบกับมีความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถดูแลที่บ้านได้ และให้การรักษาตามอาการ ดังนั้นจึงปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว
สำหรับร่างระบบการคัดกรองเพื่อเตรียมเข้าสู่ภาวะ Endemic คือ หากมีอาการของระบบทางเดินหายใจ หรือมีประวัติสัมผัสให้ประเมินตนเอง ถ้าเข้าข่ายสงสัย (Suspected case) ให้ตรวจ ATK หากผลเป็นลบให้ปฎิบัติตามมาตรการ DMHTT และแยกตัวเพื่อสังเกตอาการ (Self Quarantine) และทำการตรวจซ้ำในอีก 7 วัน หรือเมื่อมีอาการ แต่หากผลเป็นบวกให้ติดต่อ 1330 หรือเดินทาง/ติดต่อไปยังคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic)/ คลินิกสงสัยผู้ติดเชื้อ (PUI Clinic) ซึ่งมีอยู่ในทุกโรงพยาบาล เพื่อประเมินภาวะเสี่ยง (กลุ่ม 608)
ทั้งนี้ เมื่อประเมินแล้วพบว่ามีภาวะเสี่ยง จะให้ทำการรักษาที่ Home Isolation, Hotel Isolation, Community Isolation และ Hospitel แต่หากมีอาการรุนแรง จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่หากประเมินแล้วพบว่าไม่มีภาวะเสี่ยง มีมาตรการเสริมจากเดิม คือ ผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (Outpatient with Self Isolation) ซึ่งจะมีการติดตามอาการ 48 ชั่วโมง ถ้าอาการมากขึ้นให้ปฎิบัติตามแนวทางเวชปฎิบัติ (CPG)
สำหรับความแตกต่างของรูปแบบการรักษา แบบ Home Isolation และ Outpatient with Self Isolation คือ Home Isolation (HI) เป็นประเภทการรักษาแบบผู้ป่วยใน (In patient department: IPD) มีการแยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ โทรติดตามอาการทุกวัน มีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน และมีบริการอาหาร ในขณะที่ Outpatient with Self Isolation ประเภทการรักษา OPD จะเหมือนระบบ HI เกือบทั้งหมด ยกเว้นจะไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน และไม่มีบริการอาหาร และจะมีการโทรติดตามอาการเพียง 1 ครั้งคือหลัง 48 ชั่วโมง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อได้ตลออดเวลาหากมีอาการ หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม
ส่วนแผนการดำเนินการ คือ ดำเนินการและติดตามประเมินผลรูปแบบการรักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก และการแยกกักตนเองที่บ้าน (Outpatient with Self Isolation) และขยายเตียง โดยลดจำนวนเตียงประเภท Non-COVID
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการใช้หลักปฏิบัติ ดังนี้
- Outpatient with Self Isolation ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ที่ไม่มีความเสี่ยง
- HI, CI, Hotel Isolation และ Hospitel ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อย หรือปานกลาง
- โรงพยาบาล ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง
"ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันตนเองและคนรอบข้าง หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด รวมทั้งภาคประชาสังคม และสื่อแขนงต่างๆ เสนอ และตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวถึงการรักษาโควิด-19 ว่า ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (Probable case) ผู้ที่มีผลตรวจ ATK ต่อ SARS CoV-2 ให้ผลบวก และรวมผู้ติดเชื้อยืนยัน ทั้งผู้ที่มีอาการและไม่แสดงอาการ สามารถแบ่งกลุ่มตามอาการได้เป็น 4 กรณี ดังนี้
1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 90% ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้าน (Home isolation) ให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เช่น favipiravir เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์ แต่จะไม่ให้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกันกับยาต้านไวรัส เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยา
2. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือโรคร่วมสำคัญ และภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ favipiravir โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบเล็กน้อย ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน ปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ, โรคไตเรื้อรัง (CKD), โรคหัวใจและหลอดเลือดรวมโรคหัวใจแต่กำเนิด, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้, ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI 230 กก/ตร.ม.), ตับแข็ง, ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ lymphocyte น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.ม. หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น
สำหรับกลุ่มนี้แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด ได้แก่ Nimmatrevi หรือ itonavi, Molnupiavi, Remdesivir หรือ Favipiravir โดยพิจารณาจากโรคประจำตัว ข้อห้ามการใช้ยา ปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านไวรัสกับยาเดิมของผู้ป่วย (drug-drug interaction) การบริหารเตียง ความสะดวกของการให้ยา และปริมาณยาสำรองที่มี
4. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ ในการดูแลรักษาให้เหมาะสมต่อไป
"จำนวนเคสของผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรืออาการน้อยมาก ดังนั้น เราจะรักษา OPD เคส ห้ามเด็ดขาดว่าการรักษาเป็นแบบไป-กลับ เพราะไป-กลับ เดี๋ยวจะหมายถึงว่าออกไปข้างนอกได้ ซึ่งออกไม่ได้ ต้องรักษาเสร็จกลับไปกักตัวที่บ้าน 7 วันเป็นอย่างน้อย แต่ระหว่าง 7 วันต้องติดต่อกับทางการแพทย์ เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้อาการไปถึงไหน ซึ่งส่วนใหญ่อาการของโรคจะค่อยๆ หายเอง ซึ่งการรักษาด้วยยาต่างๆ ขอให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา อย่าลืมว่าอะไรที่มีประโยชน์ ก็จะมีโทษด้วย ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีกับผลเสีย" นพ.ทวี กล่าว
ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ภายในวันที่ 5 มี.ค. 65 จะส่งยาฟ้าทะลายโจรสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอาการเล็กน้อยจนครบ 77 จังหวัด ทั้งนี้ ยืนยันว่ายาฟ้าทะลายโจรสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่มาก ให้มีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา สำหรับการดูแลผู้ป่วยภาวะ Long Covid กรมฯ ได้เตรียมให้ความรู้แก่แพทย์แผนไทยในจังหวัดต่างๆ แล้ว
ในขณะเดียวกัน มีแผนการดำเนินการวิจัยต่อเนื่องร่วมกับกรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์ฯ เรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารสกัดฟ้าทะลายโจร เทียบกับการรักษามาตรฐานในการป้องกันการเกิดปอดอักเสบในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย และการทดลองแบบสุ่มเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยยา Fluvoxamine, Bromhexine, Cyproheptadine, Nicosamide และฟ้าทะลายโจร ในการช่วยลดระยะเวลาฟื้นตัว