น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ ได้วางแนวทางส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและเกษตรกรรายย่อย ด้วยการกำหนดพื้นที่นำร่อง Pig Sandbox หรือพื้นที่ควบคุมพิเศษ เพื่อนำร่องส่งเสริม-ฟื้นฟูการผลิต และควบคุมป้องกันโรคสุกร ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วย เขตพื้นที่นำร่องและพื้นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) เช่น ภาคเอกชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคการเงินการธนาคาร ภาคการขนส่ง ฯลฯ มาตรการทางกฎหมายและการสนับสนุนด้านอื่นๆ โครงการ/กิจกรรมสำคัญที่ต้องดำเนินการ กรอบเวลาและงบประมาณ และคณะทำงานขับเคลื่อนทั้งส่วนกลางและในพื้นที่
สำหรับ Pig Sandbox แบ่งเป็น พื้นที่นำร่อง/พื้นที่ขยายผล พื้นที่ปลอดโรค ASF-Free Zone และพื้นที่นอกเขตปลอดโรค โดยปศุสัตว์เขต 5 เป็นพื้นที่นำร่อง และปศุสัตว์เขต 2 เขต 8 เขต 9 และพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรจำนวนมาก และ/หรือมีความเหมาะสมหลังประเมินความเสี่ยง เป็นพื้นที่ขยายผล
ส่วนพื้นที่ปลอดโรค ASF-Free Zone จะมีกิจกรรม และมาตรการต่างๆ ประกอบด้วย การขึ้นทะเบียน (คนเลี้ยง คนค้า คนฆ่า คนขน คนขาย โรงงานอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ฯลฯ) การสร้างความรับรู้ที่ดี การให้ความรู้แก่เกษตรกร การยกระดับมาตรฐานฟาร์ม GFM/GAP/ASF-Free Farm หมูหลุม อื่นๆ ระบบ Compartment ในฟาร์มสุกร มาตรการการสุ่มตรวจสอบ ตรวจโรค การกำจัดซากสัตว์ ยกระดับมาตรฐาน โรงฆ่า ตัดแต่ง ห้องเย็น เขียง
ในส่วนของการเตรียมความพร้อมกลับมาเลี้ยงใหม่ของเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง มีหลักเกณฑ์เบื้องต้น ได้แก่ การทำลายสุกรมาแล้วมากกว่า 90 วัน ล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อคอกและจุดเสี่ยง เป็นฟาร์มที่ได้รับการรับรอง GFM หรือ GAP ก่อนนำสุกรเข้ามาเลี้ยง 14 วัน ต้องล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะโรงเรือนที่จะนำมาเลี้ยง หลังจากนั้นเก็บตัวอย่าง 3 ตัวอย่าง หน้า กลาง หลัง และท้ายของโรงเรือน จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ เมื่อตรวจแล้วผลเป็นลบ ควรทดลองเลี้ยงสุกร ประมาณ 10-15% ของจำนวนสุกรที่สามารถเลี้ยงได้จริงในโรงเรือน และเฝ้าระวังทางอาการ 6 สัปดาห์ หากไม่มีอาการจึงนำเข้าเลี้ยงได้เต็มจำนวน
สำหรับแนวทางการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและเกษตรกรรายย่อย มีการดำเนินการโดยใช้หลัก 3S ได้แก่
- Scan พื้นที่ภายใต้มาตรการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดพื้นที่นำร่อง (Pig Sandbox)
- Screen คน คอก เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม
- Support อุดหนุน ช่วยเหลือด้านการจัดการเลี้ยงดู การตลาดและแหล่งทุน โดยให้คำแนะนำ อบรม ในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อยกระดับและปรับระบบการเลี้ยงเข้าสู่มาตรฐาน GFM/GAP มีการอบรมเกษตรกร สนับสนุน อุดหนุน ปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เช่น พันธุ์สัตว์ราคาถูก (ลูกสุกรขุน/แม่พันธุ์) โดยกรมปศุสัตว์ และเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกร สนับสนุนการจัดทำ ปรับปรุงฟาร์มภายใต้ระบบป้องกันภัยทางชีวภาพของฟาร์มเลี้ยงสุกรสู่ระบบการป้องกันโรค และการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management: GFM) โดยต้องเป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม
ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคว่าผ่านการผลิตที่ได้มาตรฐาน "ปศุสัตว์ OK" ปลอด ASF, FMD, PRRS 100% สามารถตรวจสอบย้อนกลับ มีระบบ e-Movement ควบคุมการเคลื่อนย้าย, มีการให้สินเชื่อต้นทุนต่ำ มีการปรับโครงสร้างหนี้ และการบริหารความเสี่ยง/ประกันภัย และพื้นที่นอกเขตปลอดโรคจะเป็น Smart Farm เป็นฟาร์มมาตรฐาน ต้องขึ้นทะเบียนฟาร์ม และปลอด ASF, FMD, PRRS 100%
"ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้มีการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็ก และเกษตรกรรายย่อย เพื่อยกระดับฟาร์มให้มีมาตรฐานที่ดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร" อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว