ทั้งนี้ เมืองไทยยังมีการระบาดรุนแรง กระจายทั่ว เห็นได้จากในประเทศไทยด้วยที่ตรวจ RT-PCR อย่างจำกัด ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันไม่มาก แต่สถานการณ์จริง การระบาดเป็นไปอย่างกว้างขวาง และมีผู้ติดเชื้อที่ตรวจด้วย ATK จำนวนมากกว่า RT-PCR แต่ไม่รายงานรวมเป็นผู้ติดเชื้อ ทั้งที่นำเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาแบบ Home isolation, Community isolation, และแบบ OPD
นอกจากนี้ ยิ่งจำนวนติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นมากเท่าใด โอกาสเกิดการปะทุรุนแรงขึ้นกว่าเดิมย่อมมีได้ โอกาสเกิดสายพันธุ์ใหม่ย่อมมีได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ดูจะเป็น "ขาลง" หลังพีคเมื่อ 3 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ธรรมชาติของการระบาดขาลงที่สังเกตจากประเทศอื่นจะยาวนานกว่าขาขึ้น 1.5 เท่า จึงคาดว่าไทยจะมีช่วงขาลงราว 42 วัน หรือ 6 สัปดาห์
ระยะยาวเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่าวางใจได้ แต่กลับหมายถึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะจำนวนติดเชื้อใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงขาลงที่ยาวนานนี้ อาจมีจำนวนรวมมากกว่าขาขึ้นได้ หากประมาท ไม่ป้องกันตัวให้ดี
ด้วยสถานการณ์และทิศทางนโยบายและมาตรการดังที่เป็นมา คาดว่า 4 เดือน หรือ 3+1 ไม่มีทางที่จะเพียงพอสำหรับการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น
นพ.ธีระ ระบุอีกว่า สิ่งที่ควรตระหนักคือ จำนวนคนที่จะประสบปัญหา Long COVID ในระยะยาวจะมากขึ้น Long COVID จะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการดำรงชีวิต คุณภาพชีวิต และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งคนที่ป่วย ครอบครัว และประเทศ
ทั้งนี้ ความรู้เกี่ยวกับ Long COVID จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการจัดการโรคโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้องนำนโยบาย จึงจะมีโอกาสสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จนั้นวัดกันที่ "ผลลัพธ์ที่เห็น"