พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยได้ติดตามผลดำเนินงานตามมาตรการฤดูแล้ง และมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 โดยพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ซึ่ง สทนช.ได้ประชุมถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 64 จากหน่วยงานต่างๆ และร่วมกำหนด 13 มาตรการรับมือ ประกอบด้วย 1.การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 2.การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก 3.การปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดต่างๆ 4.การซ่อมแซมปรับปรุงระบบระบายน้ำ สถานีชลมาตรให้พร้อมใช้งาน 5.การแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ
6.การขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7.การเตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักรประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 8.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9.การตรวจความมั่นคงปลอดภัยทำนบ-พนังกั้นน้ำ 10.การซักซ้อมพื้นที่อพยพและแผนเผชิญเหตุ 11.การตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย 12.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ 13.การติดตามประเมินผล เพื่อปรับการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงสุด
พร้อมทั้งเห็นชอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แบ่งเป็น 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง (1 พ.ย.-30 เม.ย.) และฤดูฝน (1 พ.ค.- 31 ต.ค.) และเห็นชอบแนวทางการกำจัดผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ชีวภาพ โดยการใช้สารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติจากผลการวิจัย เพื่อลดความเสียหายจากปัญหาผักตบชวาในฤดูน้ำหลาก
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบภาพรวมการคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.65 จะมีปริมาณมากกว่าปกติ มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ต้องเฝ้าระวังเสี่ยงน้ำน้อย 5 แห่ง สำหรับความก้าวหน้าของ 9 มาตรการรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 64/65 การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภาวะน้ำแล้ง ทั้งด้านการอุปโภค-บริโภค ด้านการเกษตร และด้านคุณภาพน้ำ ยังสามารถควบคุมได้ตามแผนงานและเป็นไปตามเป้าหมายที่มุ่งจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค และการควบคุมคุณภาพน้ำ
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้แสดงความพอใจการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งภาพรวมที่ผ่านมา และขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเพียงพอต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร และยังไม่พบสถานการณ์ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคในปัจจุบัน พร้อมทั้งย้ำให้ สทนช.ช่วยเหลือต่อเนื่องให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งน้อยที่สุด ทั้งนี้ ขอให้ความสำคัญในการดูแลคุณภาพน้ำ การลดความสูญเสียน้ำ และขยายผลกักเก็บน้ำบนดินและเติมน้ำใต้ดินไปพร้อมกัน
พร้อมทั้งขอให้พิจารณาความเร่งด่วนในการบริหารจัดการประตูน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำท่าจีน เพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มจากผลกระทบน้ำทะเลหนุนสูง นอกจากนี้ ยังได้ย้ำให้กระทรวงมหาดไทย เร่งขยายผลให้ทุกหมู่บ้านมีและสามารถใช้น้ำประปาได้ในทุกหมู่บ้าน และขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาสนับสนุนและทำความเข้าใจกับเกษตรกรในการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการผลิตผลการเกษตรได้ต่อเนื่องตลอดปี
สำหรับฤดูฝนที่จะมาถึงนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนที่กำหนดให้เร็วขึ้น โดยให้ สทนช.ติดตามขับเคลื่อนรับมือตาม 13 มาตรการที่กำหนดให้เป็นรูปธรรมร่วมกันในทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ต้องเร่งป้องกันและแก้ปัญหาจากบทเรียนที่ผ่านมาในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับแผนเตือนภัย และการอพยพเคลื่อนย้าย เพื่อลดการสูญเสียและความเสียหายในพื้นที่เสี่ยงให้ได้มากที่สุด