ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,130 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 21,767 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 267 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 69 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 27 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 15,650 ราย
- เสียชีวิต 69 ราย เป็นเพศชาย 42 ราย เพศหญิง 27 ราย สัญชาติไทย 68 ราย เมียนมา 1 ราย อายุเฉลี่ย 70 ปี (อายุระหว่าง 2 เดือน-99 ปี) แยกเป็น อายุ 60 ปีขึ้นไป 49 ราย คิดเป็น 71%, อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 18 ราย คิดเป็น 26% และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย คิดเป็น 3%
จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 3,060 ราย, นครศรีธรรมราช 1,268 ราย, ชลบุรี 1,117 ราย, สมุทรปราการ 935 ราย, นนทบุรี 757 ราย, สมุทรสาคร 666 ราย, พระนครศรีอยุธยา 609 ราย, ปทุมธานี 588 ราย, นครปฐม 573 ราย และ ราชบุรี 540 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 3,206,955 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 23,508 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 23,778 ราย
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 458,522,738 ราย เสียชีวิต 6,066,047 ราย
ด้าน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ศบค.ชุดเล็กมีความกังวลว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 69 ราย ได้รับวัคซีนไม่ครบโด้ส ถึง 61 ราย และมีถึง 26 รายยังไม่ได้วัคซีนเลยแม้แต่เข็มที่ 1 และมี 8 ราย ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 แต่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว
ทั้งนี้ ยังมีผู้สูงอายุกว่า 2 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มที่ 1 และผู้สูงอายุที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 เกิน 3 เดือนไปแล้ว อยากให้เข้ามรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย
พญ.อภิสมัย เน้นย้ำว่า หากประชาชนมีอาการไอ มีไข้ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ หรือไม่มีอาการ แต่ไปสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน หรือผู้ป่วยสัมผัสเสี่ยงสูง หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง นอกจากตรวจ ATK เองแล้ว ให้คอยสังเกตอาการคนรอบข้าง และให้เข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด โดยติดต่อไปที่ 1330 สปสช. ซึ่งภายใน 6-24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับ และจับคู่กับสถานพยาบาลให้ อย่างไรก็ดี ศบค.ต้องขออภัย หาก สปสช.ยังไม่ได้มีการติดต่อกลับไป เนื่องจากปริมาณผู้ป่วยที่เข้าระบบเกินกว่า 4 หมื่นคนต่อวัน
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการพิจารณาเรื่องสำคัญ คือ ในกรณีที่รอการติดต่อกลับจาก สปสช. มีระเบียบการประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 หรือ UCEP Plus ซึ่งก่อนหน้านี้ ศบค.ขอความร่วมมือประชาชนว่า หากเป็นผู้ป่วยสีเขียวขอให้เข้าระบบ 1330 ตามปกติ สงวนเตียงสีเหลือง สีแดง สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ แต่ตอนนี้การพิจารณานิยามของคำว่า วิกฤติ ขอให้ทางโรงพยาบาลศึกษาให้ดี เพราะไม่ใช่เกณฑ์สีแดงเหมือนเดิมอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ระบบสาธารณสุขยังอยู่ในเกณฑ์ที่รองรับได้ ซึ่งในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 18 มี.ค.นี้ อาจมีการผ่อนคลายกิจการ กิจกรรม เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้