นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนช.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณากลั่นกรองมาตรการแผนงานโครงการด้านน้ำก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย 13 มาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝนปี 2565 โดยเน้นมาตรการในเชิงป้องกันบรรเทาที่สามารถช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้แก่ประชาชนได้ทันท่วงทีและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่
1) คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 2) การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก 3) ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง และเขื่อนระบายน้ำ 4) ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5) ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ
6) ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7) เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 8) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9) ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ 10) จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ
11) ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย 12) การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ 13) ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย โดยมอบหมายให้ สทนช. เป็นหน่วยงานบูรณาการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการเก็บกักน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 เสนอ กนช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฉบับปรับปรุง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางร่วมกันในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์
รวมทั้งเห็นชอบโครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (66-69) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เช่น คลองแสนแสบ คลองสามวา และคลองสองต้นนุ่น ในเขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตคันนายาว และเขตสะพานสูง โดยมอบให้กรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมโครงการให้สามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ ส่วนโครงการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่อื่นๆ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนเพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพคลองแสนแสบให้กลับมามีระบบนิเวศอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเร็ว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ 5 ปี (66-70) และร่างแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานพิจารณาเสนอโครงการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จากทุกแหล่งงบประมาณ ผ่านระบบ Thai Water Plan ให้ครบถ้วน เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานได้สะดวกและรวดเร็ว
ขณะเดียวกันยังเห็นชอบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นให้มีการปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ให้เกิดการบูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิเคราะห์แนวโน้มที่อาจก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบ ในกรณีมีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหาวิกฤติน้ำ และเพิ่มความเข้มแข็งของอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ พร้อมเห็นชอบกรอบการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้าง กลไก เพื่อรองรับระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะยาว ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของประเทศในทุกมิติ และบูรณาการบริหารจัดการน้ำได้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ สมดุลและยั่งยืนได้โดยเร็ว