นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีข่าวกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ วันที่ 18 มี.ค.นี้ ให้สามารถถอดหน้ากากอนามัยในสวนสาธารณะว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความเข้าใจผิด ข้อเท็จจริง คือ การให้ถอดหน้ากากอนามัยในสวนสาธารณะ เป็นเพียงแผนดำเนินการเมื่อโรคโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่นแล้ว
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมจะเสนอ ศบค. เรื่องการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ Test&Go เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง แต่ให้ตรวจ RT-PCR เพียงครั้งเดียวเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย และตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ด้วยตนเองซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 หลังเข้าประเทศ
ขณะเดียวกัน พร้อมปรับลดวงเงินประกันสุขภาพผู้เดินทาง จากเดิมกำหนด 5 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ เหลือ 1 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากเดิมมีค่าเฉลี่ยการรักษาพยาบาลรายละ 1 ล้านบาท แต่ขณะนี้โรคมีความรุนแรงลดลง จึงเสนอปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
นอกจากนี้ จะรายงานต่อ ศบค. ชุดใหญ่ เกี่ยวกับแผนการปรับโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลรักษาโรค สังคม และกฎหมาย จึงต้องให้ ศบค. รับทราบ เพื่อพิจารณามิติทางสังคมและการแพทย์ให้มีความสมดุลกัน รวมถึงยังมีกฎหมายหลายฉบับในช่วงการระบาดที่ต้องปรับกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่น พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลเตรียมปรับมาใช้เป็นร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. ... ที่มีเรื่องของการบริหารในภาวะฉุกเฉินด้วย เป็นต้น
สำหรับการปรับโรคโควิด-19 เข้าสู่ช่วง Post Pandemic หรือพ้นจากการระบาด เป็นแผนในช่วง 4 เดือนต่อจากนี้ จะทยอยปรับเป็นขั้นตอน (Step Down) และแม้จะเข้าสู่ช่วงที่พ้นจากการระบาดแล้ว ก็ยังต้องเข้มมาตรการป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ แต่อาจจะผ่อนคลายได้มากขึ้น เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ผู้ที่ป่วยยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ส่วนคนทั่วไปอาจให้ถอดได้ในพื้นที่เปิดโล่ง เช่น สวนสาธารณะ ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่แรกที่ทำได้ และอาจเพิ่มจำนวนการรวมกลุ่มคนทำกิจกรรมได้มากขึ้น
"แผนทั้งหมด อยู่ในเงื่อนไขว่าไม่มีการกลายพันธุ์ของไวรัสจนเกิดความรุนแรงขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีการเสนอ ศบค. เรื่องให้ถอดหน้ากากอนามัยในสวนสาธารณะแต่อย่างใด เป็นเพียงแผนดำเนินการเมื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น เนื่องจากสถานการณ์อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา" ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการรองรับหลังสงกรานต์หากมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นว่า ต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ระมัดระวังตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งการติดเชื้อหลักๆมีสาเหตุจากการรวมกลุ่มคนหมู่มาก จึงขอความร่วมมือให้มีการป้องกันมากที่สุดและภายในครอบครัวด้วย แต่อย่ารวมตัวหลายครอบครัวในคราวเดียว
สำหรับสงกรานต์ปีนี้จะเล่นในรูปแบบใดได้บ้าง นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องการสงกรานต์ขอให้อยู่ในครอบครัว ส่วนตัวยังไม่อยากให้มีการเล่นสาดน้ำ โดยเฉพาะการปะแป้ง เพราะจะมีการใช้มือสัมผัสกันเกิดขึ้น แต่การรดน้ำดำหัวบุพการีสามารถทำได้ และเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่อันตรายอยู่แล้ว อีกทั้งสิ่งที่ดีที่สุดคือการสวมหน้ากากอนามัยและการฉีดวัคซีน
ทั้งนี้แพทย์ได้แนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาไปพบครอบครัว ได้ดูแลตัวเอง งดการดินเนอร์ สังสรรค์ พบปะผู้คนในพื้นที่เสี่ยง หรือที่มีผู้คนจำนวนมาก เป็นเวลาเวลา 7 วัน เพื่อความปลอดภัย และลดการติดเชื้อได้มาก สำหรับการดูแลในจังหวัดท่องเที่ยว เป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ
ส่วนแนวโน้มผับ บาร์ จะสามารถเปิดให้บริการได้หรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ในการประชุมศบค.ชุดใหญ่พรุ่งนี้ กรมควบคุมโรคจะนำเสนอในหลายประเด็น แต่ยืนยันว่า ไม่ได้มีมาตรการขันน็อตเพิ่มขึ้น มีแต่จะผ่อนคลายให้สามารถดำเนินกิจการได้มากขึ้น ส่วนขอบเขตจะเป็นอย่างไรให้ทาง ศบค. พิจารณา